รัฐสภา 26 ก.ค.-“วันนอร์” สัมมนา สส.ใหม่ เล่าประสบการณ์ทำงานในสภา 11 สมัย แนะน้องใหม่อย่าเบื่อการประชุม ให้มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ยึด ปชช.เป็นหลัก อย่าเป็นงูเห่า บอกยุคนี้ยังดีเป็นแค่งู ยุคเก่าเรียกโสเภณี ระบุ สส.แปลงร่างพบแต่ความล้มเหลว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวตอนหนึ่งระหว่างงานสัมมนาบทบาทหน้าที่ของ สส.กับการสนับสนุนการดำเนินงานและการให้บริการกับ สส. เรื่อง เกร็ดปฏิบัติรัฐสภาไทย ว่า ตนเป็น สส. มา 44 ปีหรือ 11 สมัย ขอพูดในฐานะเป็น สส.รุ่นพี่ ไม่ใช่ประธานสภาฯ ขอพูดด้วยความเป็นกันเอง เชื่อว่ามีที่มาและที่ไปเหมือนกันคือสมัครใจเป็นผู้แทนของประชาชน และตระเวนหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน ฐานะเจ้าของอำนาจ การทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร คือผู้แทนเท่านั้น ส่วนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงไม่ได้เข้ามา ดังนั้น ต้องไม่ลืมว่าอำนาจอธิปไตยที่ สส.มี มาจากประชาชน และ สส.คือผู้แทนเท่านั้น หากมองว่าประชาชนคือผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถือว่าเข้าใจผิดในหลักประชาธิปไตย หาก สส.ไม่ลืม เมื่อสงสัยให้ถามประชาชนจะไม่หลงผิด หากยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง อาจจะผิดน้อยหรือไม่ผิดเลย
“เมื่อได้เป็นผู้แทน อย่าเบื่อการประชุมสภา ผมอยากให้ สส.มีความตั้งใจและความพยายามในการทำงาน ทั้งความอยากเป็นรองประธานสภา อยากเป็นประธานสภา หรือ รัฐมนตรี อยากให้มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน และตนเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ชีวิตผู้แทนไม่มีใครเหนือใคร เป็น 4 ปีต้องไปเลือกตั้ง ไปหาประชาชน บางคนได้กลับมาอีก แต่บางคนความพยายามไม่ถึง คะแนนไม่ถึง ไม่ได้กลับมาอีก น่าเสียดาย แต่บางคนหยุดไป เพราะแปลงร่างเป็นงูเห่า ผมอยู่ในกระบวนการนี้มานาน ไม่เคยเห็นงูเห่าหลุดเข้าสภาฯ อีกเลย ที่ผ่านมามี 40 คนที่แปลงร่าง ไม่เห็นได้กลับมา การเป็นสส. อย่าแปลงร่าง แม้เฉพาะหน้าดูดี มีความสุข แต่ระยะยาวไม่มีใครมีความสุข และพบกับความล้มเหลว สมัยนี้ยังดีที่เปรียบเป็นงู สมัยก่อน สส.ที่ย้ายพรรคถูกมองว่าโสเภณี ขายตัว เรียกว่า เป็น สส.หนังหมา เอาหมาขี้เรื้อน เขียนชื่อและปล่อยที่บริเวณที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า สส.ต้องปรับตัวตามบริบทสังคม หากไม่เปลี่ยนตามบริบทของสังคมอาจแพ้และไม่ได้กลับเข้ามาสภาฯ อีก ซึ่งในสมัยก่อนมีตัวอย่างให้เห็นเช่น นายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในพื้นที่ กทม. เขตดุสิต ซึ่งในช่วงที่นายสมัครเป็นฝ่ายค้านและตนเป็นประธานสภาฯ มักมีความหนักใจ เพราะพูดไม่หยุด ไม่ต่ำครั้งละ 1 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีจำกัดเวลา ซึ่งตนและนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ช่วยกันคิดว่า แม้จะพูดน้อยแต่ขอให้ได้ประสิทธิภาพในการออกกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย