รัฐสภา 14 ก.ค.-“ก้าวไกล” ยื่นปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เปิดทางออกให้ประเทศ หลัง ส.ว. งดออกเสียง-โดดประชุม เท่ากับไม่อยากใช้อำนาจ ขณะที่ “วันนอร์” นัดสมาชิกรัฐสภาโหวตนายกฯ รอบสอง 19 ก.ค.นี้
สมาชิกพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นการแก้ไขกฎหมาย โดยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิก มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว หรือเรียกว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน หรือ ปิดสวิตช์ ส.ว.
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่สภาฯ ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายชื่อและเอกสารนี้ เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป ส่วนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งถัดไป ได้ออกหนังสือเชิญสมาชิกรัฐสภามาประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น.
นายชัยธวัช กล่าวถึงการยื่นแก้กฎหมาย ว่า เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏชัดว่ามี ส.ว.จำนวนมากได้งดออกเสียง 159 คน และไม่มาประชุมอีก 43 คน หลายคนได้แสดงออกชัดเจนว่าตนเองไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ ใช้อำนาจทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องของ ส.ส. ดังนั้นเมื่อ ส.ว.จำนวนมากประสงค์เช่นนั้น ไม่ใช้สิทธิของตนเองโดยการงดออกเสียง ก็จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกให้กับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเชื่อว่าทางนี้จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ของทั้งสมาชิกวุฒิสภาเอง และตอบโจทย์ในระบบรัฐสภาของไทย และเพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ และจะได้มีรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นคนละส่วนกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองส่วนสามารถดำเนินการคู่ขนานไปได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะดำเนินการไปอีกกี่ครั้ง ดังนั้นก็พยายามหาทุกช่องทางที่จะทำให้สามารถมีข้อยุติเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และพรรคก้าวไกล รวมถึงอีก 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็คงจะพยายามที่จะขอเสียงจาก ส.ว. เพิ่มมากขึ้นด้วย
ส่วนการยื่นร่างแก้ไขมาตรา 272 ในวันนี้ ได้แจ้งไปยังพรรคเพื่อไทยให้ทราบแล้ว และพรรคเพื่อไทยไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด เพราะพรรคก้าวไกลได้เตรียมร่างฯ นี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อนสมาชิกได้เซ็นเสนอร่างไว้แล้ว และมีการตัดสินใจเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่จะยื่นต่อสภาฯ ในทันที เพื่อที่จะใช้เวลาให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเข้าใจดีว่าเมื่อเร่งรีบและต้องการให้ระยะเวลาสั้นที่สุดก็ไม่สามารถที่จะมีเวลารอให้สมาชิกจากพรรคอื่นมาร่วมเซ็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ส่วนการยื่นแก้กฎหมายมาตรา 272 ในครั้งนี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายพิธา หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า แล้วแต่มุมมอง แต่เชื่อว่าไม่ได้กระทบอะไร เพราะเนื่องจาก ส.ว. ก็ไม่ประสงค์ที่จะออกเสียงอยู่แล้ว จึงมองหาทางออกให้กับทุกฝ่าย ในเมื่อลงคะแนนงดออกเสียง 159 คน และไม่มาประชุมเลย 43 คน ดังนั้น ส.ว.จำนวนมากก็ควรที่จะยินดี หากไม่ต้องใช้สิทธิอย่างเป็นทางการ
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยกับการยื่นครั้งนี้หรือไม่นั้น คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะร่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอไปหลายครั้ง ในสภาฯ สมัยที่แล้ว แต่ครั้งนั้นพรรคที่เป็นฝั่งรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกเสียงให้ ในครั้งนี้ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และ ส.ว.จำนวนมากก็เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และ ส.ว.หลายคนมีความประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นี่คือทางออกที่ดีที่สุด
ส่วนถ้า ส.ว. จะเอาเรื่องการแก้ไข ม.112 มาเป็นเงื่อนไขในการไม่ร่วมแก้ไขมาตรา 272 นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ไกลเกินกว่าที่จะโยง เพราะเรื่องนี้เป็นการหาทางออกให้ทุกฝ่ายสบายใจ ในเมื่อมีมโนธรรมสำนึกในใจว่าไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทำการอะไรที่ไม่ขัดกับมโนธรรมสำนึก ก็ยกเลิกมาตรานี้ และคืนอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนตัดสินใจไปแล้ว จะถูกจะผิด ก็ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. พร้อมย้ำว่า นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุด
นายชัยธวัช ยังกล่าวว่า ไม่กังวลว่าการยื่นแก้ไขมาตรา 272 จะพาพรรคก้าวไกลไปสู่ฝ่ายค้าน เพราะเราต้องการทำตามความประสงค์ของ ส.ว.จำนวนมาก และไม่เกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรี และต้องไปถาม ส.ว. ว่าในเมื่อไม่ประสงค์ที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี จะเห็นด้วยหรือไม่กับร่างดังกล่าว
ส่วนข้อกังวลที่ว่า ระยะเวลาในการแก้กฎหมายอาจจะยาวนาน และไม่ทันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายชัยธวัช กล่าวว่า การแก้กฎหมายไม่ยาวนานขนาดนั้น เพราะเนื้อหาสาระไม่ได้มีอะไรมาก นอกจากการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาอีกกี่ครั้ง ดังนั้นเราจะพยายามที่สุดที่จะหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย และคาดหวังว่าสมัยประชุมนี้ ฝ่ายรัฐบาลเดิมจะมีจุดยืนเช่นเดิม แม้ในขณะนี้จะไม่มีฝ่ายค้านก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหา
สำหรับ ส.ว.ที่งดออกเสียง อาจเป็นเพราะอคติต่อพรรค หรือต่อนายพิธา ไม่ใช่อยากปิดสวิตช์ตัวเองนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนทราบว่า ส.ว.ที่งดออกเสียง ไม่ได้หมายความว่าต้องการจะปิดสวิตช์ตัวเองทั้งหมด แต่น่าจะมี 1 ใน 3 ที่มีความประสงค์ที่จะไม่ใช้เสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจริงๆ
พร้อมกันนี้ นายชัยธวัช กล่าวถึงการที่ ส.ว. ยกข้อบังคับที่ 41 ที่ว่าไม่ให้มีการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งการเสนอนายพิธาอีกครั้งในการโหวตครั้งต่อไปจะขัดต่อข้อบังคับ ว่าเป็นการตีความที่ผิด
สำหรับที่มีแกนนำหลายจังหวัดให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อรักษานโยบายอื่นๆ นายชัยธวัช กล่าวว่า ถ้าเป็นความเห็นจากแกนนำในพรรคในแต่ละจังหวัด หรือ ส.ส.พรรค คงมีกระบวนการหารือกัน แต่เบื้องต้นพยายามทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องนี้เป็นข้ออ้างบังหน้าเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ได้เห็นข้อความที่ส่งกันในแอปพลิเคชันไลน์ของ ส.ว.ที่อ้างว่า “ให้ระวังไว้ว่า นายพิธาจะประกาศในรัฐสภาว่าจะไม่แก้ ม.112 แล้ว แต่ขออย่าให้เชื่อ อย่าให้ถูกหลอก เพราะพวกเขามีวัตถุประสงค์ในทางไม่ดี…” และในการประชุมรัฐสภาก็มี ส.ว.บางคนที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณที่ระบุว่า “ต่อให้นายพิธาประกาศว่าไม่แก้ ม.112 ก็ไม่เชื่อ เพราะมีความเลวร้ายอื่นอีก” ดังนั้น ไม่มีเรื่องนี้ก็มีเรื่องอื่นอีก
“ไม่สามารถเอาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้แยกเป็นการเฉพาะอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไปตีความรวมเป็นญัตติทั่วๆ ไป เหมือนญัตติอื่นๆ ในสภาได้ ดังนั้นต้องแยกออกจากกัน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้กันแล้ว และเห็นตรงกันว่าไม่สามารถตีความข้อบังคับแบบนั้นได้ และไม่กังวลว่า ส.ว. จะนำข้อบังคับ 41 นี้เข้ามาตีรวนในสภาฯ จนไม่สามารถเสนอนายพิธาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปได้ ส่วนถ้าเพื่อไทยจะเสนอแคนดิเดตของตนเองนั้น ตนคิดว่าก้าวไกลยังมีสิทธิที่จะเสนออยู่” นายชัยธวัช กล่าว
“สำหรับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจว่า เหตุผลที่แท้จริง คือ มีกลุ่มขั้วอำนาจเดิมยังพยายามที่จะพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มทุนที่ไม่ต้องการเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะไม่ต้องการเสียผลประโยชน์จากนโยบายของเรา ดังนั้นจึงพยายามทุกวิถีทาง ทั้งผ่านรัฐสภา หรือผ่านกระบวนการอื่นๆ รวมถึงข้อสงสัยเรื่องการทำงานขององค์กรอิสระบางองค์กรด้วยเพื่อเป้าหมายเดียว” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวถึงอาจมีการเสนอชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล ตนยังเชื่อว่า ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หวังว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นจะยังรักษาหลักการและจุดยืนไม่โหวตให้ พล.อ.ประวิตร เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารไม่ได้
“สำหรับ ส.ว. คงไม่มีข้ออ้างใดในการฝืนมติมหาชน แต่ในสัปดาห์ต่อมาเปลี่ยนมาเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากฝ่ายเสียงข้างน้อย อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่าควรโหวตคืนอำนาจ ตามการเสนอยกเลิกมาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เราอาจมีรัฐบาลหรือมีนายกฯ เร็วขึ้นจากเสียงข้างน้อย แต่เป็นความเร็วขึ้นที่ไม่เห็นอนาคตเลยว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีอายุเท่าไหร่” นายชัยธวัช กล่าว
ส่วนที่กังวลว่าจะมีเกมการเมืองที่ทำให้พรรคก้าวไกลพลิกขั้วไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายชัยธวัช ระบุว่า อย่าเปิดประเด็นใหม่ พร้อมไม่ขอบอกรายละเอียดการประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในเย็นวันนี้ (14 ก.ค.)
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ ถึงระยะเวลาในการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ประเด็นสำคัญคือพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมแพ้ เราต้องการเพียงคืนความปกติให้ระบอบประชาธิปไตยของไทย เพื่อให้อำนาจอธิปไตยยังเป็นของประชาชน และหวังว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกในความพยายามครั้งนี้ และพรรคก้าวไกลได้ตกลงกับอีก 7 พรรคแล้วว่าจะพยายามเสนอชื่อนายพิธาต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ รวมถึงการยกเลิกมาตรา 272 ในครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย