ทำเนียบ 20 มิ.ย.-นายกฯ ยืนยันหารือประเทศอาเซียนถึงสถานการณ์เมียนมา เป็นการหาข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีข้อตกลงกับใคร ย้ำจำเป็นต้องทำ เพราะชายแดนติดกัน ทุกประเทศอาเซียนคาดหวังไทยจะช่วยแก้ไขปัญหา ยืนยันไม่ได้เอียงไปทางเมียนมา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ของประเทศเมียนมาเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) ว่า ได้รับรายงานการประชุมจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีประเทศร่วมประชุม 9 ประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่เข้าร่วม แต่ไม่เป็นไร เพราะรายละเอียดการประชุมทั้งหมดต้องส่งให้รับทราบกันอยู่แล้ว พร้อมยืนยันไม่ได้เป็นการไปตกลงอะไรกับใคร เป็นการเดินหน้าในการแก้ไขปัญหา ในกรอบฉันทามติ 5 ข้อ หรือ Five point consensus ซึ่งยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร และจะต้องระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการของสหประชาชาติด้วยในฐานะที่ไทยเป็นเพื่อนบ้านติดกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกประเทศในอาเซียนก็คาดหวังว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาได้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าไทยก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในเรื่องของผลประโยชน์ของชาติ ของประชาชน โดยหากติดตามดู จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีการสู้รบที่รุนแรงขึ้น ก็ได้มีการหารือว่าจะลดความรุนแรงลงได้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ที่วันนี้มีประชาชนหลายพันคนตามแนวชายแดนเข้ามาในฝั่งไทย และไทยก็ดูแลตามหลักมนุษยธรรม และส่งกลับตามความสมัครใจก็ได้ดำเนินการตรงนี้ไปแล้ว นอกจากนี้ดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะลดการสู้รบให้ได้มากที่สุด ซึ่งขอให้ช่วยพิจารณาข้อเสนอต่างๆด้วย พร้อมย้ำว่าการคุยไม่ได้ไปตกลงอะไร เป็นเพียงการเสนอแนะแนวปฏิบัติ สุดแล้วแต่จะปฏิบัติกันได้อย่างไร
นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้เชียร์หรือเอนเอียงไปทางเมียนมา ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติไปแล้ว ในส่วนของมติของอาเซียนก็มี กรอบฉันทามติ 5 ข้อ หากยังไม่ก้าวหน้า ก็จะต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะเสนอเข้าไปในอาเซียนอยู่แล้ว
“เรื่องนี้ไม่ใช่การขัดแย้งอะไรกับใคร แต่ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยว่า ความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่เป็นความคิดเห็นจากภายนอกต่างๆ ก็รับฟัง อะไรปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่าหลังจากนี้อาจจะมีแรงกดดันมากขึ้นไปยังเมียนมา เราก็จะต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับไทยในเรื่องของการค้าขายชายแดน การข้ามแดน การสู้รบ แรงงาน แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ก็จะตามมา หลายอย่าง หากยุติไม่ได้ ก็ต้องหาหรือพูดคุยกัน ซึ่งทุกประเทศที่มาประชุมมีความเห็นด้วยว่าจะต้องมีการหาหรือกันในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันเท่านั้นเอง เป็นการแสวงหาทางออก และนำข้อเสนอเข้าไปในการประชุมของอาเซียนในครั้งต่อไปด้วย พร้อมย้ำว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยรับแรงกดดันสูงมาก ในการที่เรามีชายแดนติดกัน 3,000 กว่ากิโลเมตร.-สำนักข่าวไทย