ทำเนียบ 14 มิ.ย.- “วิษณุ“ แจงถ้าฟ้อง ม.151 ศาลอาญาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ไม่ทำสะดุดเป็นนายกฯ ชี้ ต้องศาล รธน. ถึงสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ บอกให้รอดูคำร้อง-คำสั่งศาล ไม่ขอตอบหวั่นชี้ช่อง มองอยู่ที่ดุพินิจ ปธ.สภาฯ โหวตเลือกนายกฯ หากรู้มีปัญหา แต่เดินหน้าเลือกต่อ ต้องรับผิดชอบ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการให้สัมภาษณ์วานนี้ (13 มิ.ย.) ที่ระบุว่า หากผู้ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จะสามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ว่า เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) คำถามมีหลายคำถาม ตั้งต้นถามตน จากมาตรา 151 แล้วก็ไม่รู้ว่าขยับกระโดดคำถามไปเป็นคำถามในมาตรา 82 เมื่อใด ซึ่งหลักง่ายๆ ที่เขามาโต้แย้งตน ถ้าเป็นไปตามข่าวว่าตนได้พูดอย่างนั้น ก็ถูกต้องแล้ว เพราะต้องเรียงลำดับเรื่องการฟ้องตามมาตรา 151 ศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องตามศาลอาญาปกติ ศาลที่จะสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้คือศาลรัฐธรรมนูญและสื่อถามตนว่าการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด คำตอบคือ เริ่มตั้งแต่ถวายสัตย์ปฏิญาณ ถึงจะเข้าชื่อยื่นตรวจสอบใดๆ ได้ แต่ถ้าถามว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ปฏิญาณตนได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าได้ในฐานะ ส.ส.และถ้ามีการไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องไปดูว่าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อะไร หากเป็นหน้าที่ ส.ส.ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.แต่การเป็นว่าที่นายกฯ ศาลไม่ได้สั่ง เมื่อไม่ได้สั่งก็ดำเนินการโหวตนายกฯไปได้
“ซึ่งตนไม่อยากชี้ช่อง ว่าในคำร้องได้ร้องอะไรยืดยาวมากกว่านี้ ซึ่งถ้าศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ก็ไม่สามารถเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากหากเสนอไปแล้ว แต่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จะเอาความไปกราบบังคมทูลฯ ว่าอย่างไร และเมื่อทรงแต่งตั้งแล้ว ตั้งรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ คือนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการจะต้องเกิดขึ้นตามลำดับอย่างนี้ แต่นี้ไม่ทราบว่าศาลจะสั่งอย่างไรในเวลานั้น เหมือนกับกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ยังทำหน้าที่ได้ เพราะศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้นสิ่งที่เขาโต้แย้งผมมาก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ว่าหยิบประเด็นกันขึ้นมาคนละประเด็นกัน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ในกฎหมายไม่มีข้อห้ามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ตนไม่รู้ว่าคำร้องจะว่าอย่างไร ซึ่งถ้าตนแสดงความคิดเห็น จะหาว่าชี้ช่องให้ร้องอีก ตนจึงไม่ขอตอบในส่วนนี้ ทั้งหมดอยู่ที่คำร้องของผู้ร้อง และอยู่ที่คำสั่งของศาลด้วย หากร้องไป 5 เรื่อง ศาลสั่งแค่ 2 เรื่องก็ไม่ได้
เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วจะอยู่ที่ดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะจัดการเรื่องนี้ เนื่องจากมีลายเซ็นของประธานสภาผู้แทนราษฎรคนเดียวในการกราบบังคมทูลฯ เรื่องนี้ เพราะเวลาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จะมีคำว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อถามว่า บทบาทของประธานสภาฯ หากเห็นอะไรสมควรหรือไม่สมควร จะต้องดำเนินการตรงนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ตรงนี้ ที่จะต้องรับผิดชอบ เหมือนการเสนอแต่งตั้งข้าราชการ จะมาจากกระทรวงไหนก็ช่าง นายกรัฐมนตรีเป็นคนเซ็น นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนเรื่องนี้อยู่ที่ประธานสภาฯ ใช่หรือไม่ที่ต้องทำให้ถูกต้อง นายวิษณุ กล่าวว่า ถูกต้อง เริ่มต้นพอเสนอชื่อประธานสภาฯ จะรับชื่อนั้นหรือไม่
“ถ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ก็รับมา และก็ต้องมีการโหวตแข่งอยู่แล้ว 2-3 ชื่อ ก็ว่ากันไป เมื่อสอบตก ไม่ได้ประธานสภาฯ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากได้ขึ้นมาประธานสภาฯ ก็ต้องคิดหนัก“ นายวิษณุ กล่าว
ส่วนหาก ส.ส.โหวตรายชื่อที่มีปัญหาแล้วได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีปัญหาด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งส.ส. และ ส.ว. เป็นเพียงการรับผิดชอบทางการเมือง แต่ไม่มีการรับผิดชอบทางกฎหมาย
เมื่อถามว่าหากพิจารณาตามข้อกฎหมาย จะมีเฉพาะตำแหน่ง ส.ส.หรือนายกรัฐมนตรี ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตราบใดที่ยังไม่ได้ตำแหน่ง อาจจะยังไม่มีกฎหมายที่ระบุให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ล่วงหน้าใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่กล้าตอบ เพราะเราไม่เคยมีตัวอย่าง ศาลอาจจะสั่งหรือไม่สั่งก็ได้ การสั่งตามมาตรา 82 เป็นการสั่งในตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี
ส่วนกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการร้องแค่เรื่อง ส.ส.เพียงอย่างเดียว จึงสามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ ตอนนั้นไม่มี แต่หากมีคำร้องในตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ พ่วงมาด้วยก็จะเกิดปัญหา ซึ่งเราไม่มีตัวอย่างมาก่อนจึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้
เมื่อถามว่าหากจะร้องในกรณีดังกล่าวต้องให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอชี้ช่อง ถ้าผมตอบคุณตรงนี้ เท่ากับผมชี้ช่อง
ส่วนหากโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ผ่าน วาระจะถูกค้างอยู่ในสภาฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากโหวตได้ไม่ถึงครึ่ง วาระนี้ก็อยู่ในสภาฯ ถูกแล้ว แต่ถ้าตนพูดอย่างนี้ ก็จะเป็นการถูกมองว่าชี้ช่องให้รัฐบาลอยู่ยาว ก็ควรทำให้เสร็จเร็วๆ วันนี้ไม่เสร็จ พรุ่งนี้ก็เลือก มะรืนก็เลือก
ส่วนหากช่วงที่มีการโหวตนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ 376 เสียง ในระหว่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิขาดคุณสมบัติ ส.ส. จะโยงไปถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะโยงต้องดูว่า คำร้อง ร้องว่าอย่างไร และคำสั่งศาลสั่งไว้อย่างไร
“เราจะบอกว่า ศาลไม่มีอำนาจสั่งก็ไม่ได้ ผมไม่แน่ใจ ศาลอาจจะบอกว่ามีก็ได้ เพราะว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งแปลกๆ หลายหนแล้ว” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพ่งเล็งการดำเนินคดีต่อนายพิธา ใน ม.151 โดยไม่มีสารตั้งต้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ เพราะรู้ว่าธงของคำตอบคืออะไร
ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ออกมาวิจารณ์ข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ ส.ว.เข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของส.ส. ตามมาตรา 82 สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ เนื่องจากมาตรา 82 ไม่มีบทเฉพาะการสามารถใช้ได้ตลอด.-สำนักข่าวไทย