สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 14 มิ.ย. – ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเวทีเสวนาอาชญากรรมไซเบอร์ กระตุ้นสังคมรู้เท่าทันมิจฉาชีพ พบ ข้อมูลประชาชนโดนหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการมากที่สุดกว่า 1 แสนคดี
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดเสวนาถกประเด็นอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Place of Justice) กระตุ้นการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการป้องกัน – ตอบโต้ ภัยคุกคามใกล้ตัวพี่น้องประชาชน
โดยนายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดหนักของปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น การดูดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร การหลอกลวงออนไลน์ผ่านคอลเซ็นเตอร์หลอกให้กู้เงิน แต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุน และหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน ข่าวปลอม (Fake news) เว็บสินค้าออนไลน์ เว็บพนันออนไลน์ เว็บสื่อลามกออนไลน์ และเว็บหาคู่ออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการเพื่อป้องปราม ยับยั้ง และเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนหยิบยกปัญหากรณีความปลอดภัยทางไซเบอร์ เรื่องการพนันออนไลน์และการหลอกลวงประชาชนผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องร้องเรียน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือในการดำเนินงานหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามจากอาชญากรรมไซเบอร์ พร้อมสื่อสารไปยังประชาชนให้รับทราบถึงมาตรการป้องกัน ตอบโต้ และการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้บูรณการการทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีการแจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com จำนวน 296,243 เรื่อง แจ้งความผ่านสายด่วน 1441 จำนวน 107,778 สาย และแจ้งความที่หน่วยงาน จำนวน 40,310 เรื่อง โดย 5 อันดับความเสียหายสูงสุดนั้นเป็น กรณีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการไม่เป็นขบวนการมากที่สุด จำนวน 100,694 คดี รองลงมาเป็นกรณีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 36,896 คดี กรณีหลอกให้กู้เงิน จำนวน 33,517 คดี กรณีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 22,740 คดี และกรณีข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 20,474 คดี.-สำนักข่าวไทย