พรรคก้าวไกล 23 พ.ค.-“พิธา” ยันก้าวไกลยังดัน 300 นโยบายได้ ผ่านฝ่ายบริหาร-สภา ระบุเข้าใจ ”ปิยบุตร” กังวลใจ แต่ใน MOU-รธน. มีทิศทางเดียวกัน เชื่อไม่มีปัญหา ย้ำเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท เตรียมเดินสายพบธุรกิจฟื้นเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการลงนาม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ว่าการจัดทำบันทึกความเข้าใจของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการทำงานในวาระร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีกว่า 300 นโยบาย ซึ่งการทำงานที่เป็นวาระร่วมกัน 23 ข้อ และยังมีอีกหลายวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่จะขับเคลื่อนผ่านกลไกการบริหาร ในฐานะตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารจัดการให้วาระของพรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอไว้ให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ รวมถึงรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ในกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระ ที่จะดูแลนโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอเอาไว้ และหากพรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้อยู่ในกระทรวงที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายโดยตรง ก็จะประสานงานผ่านรัฐบาลร่วม ให้ช่วยผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติผ่าน ส.ส.พรรคก้าวไกล 152 คน เชื่อว่าจะผ่านกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง มีกรรมาธิการ ใช้กลไกฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาขับเคลื่อน เช่น พ.ร.บ.น้ำสะอาด พ.ร.บ.คำนำหน้าทางเพศ ย้ำว่าการที่มี MOU จึงเป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำที่ประชาชนจะคาดหวังได้ ส่วนหลายประเด็นที่ประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายก้าวหน้ารัฐบาลยังมีวาระเฉพาะที่สามารถจะผลักดันได้
สำหรับกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวไกล โพสต์ข้อความถึงเนื้อหาภายใน MOU ที่ไม่มีการระบุถึงการแก้ไขมาตรา 112 และมีการปรับแก้เนื้อหาก่อนการลงนามนั้น นายพิธา กล่าวว่า เป็นความกังวลใจของนายปิยบุตร แต่ข้อความก็เป็นข้อความตามรัฐธรรมนูญ MOU กับรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหาหรือเข้าใจผิดอะไรกัน
ส่วนขั้นตอนภายหลังที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ลงนามใน MOU ร่วมกันแล้วนั้น นายพิธา ชี้แจงว่า ระหว่างนี้จะยังคงเดินสายพบปะประชาชน และต่อไปจะเชิญพรรคร่วมมาร่วมรับฟังกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลจะต้องทำนโยบายร่วม ซึ่งการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี จะคำนึงถึงบุคคลที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งแน่นอน และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ก็เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และระบบที่ผู้ชนะเลือกตั้งจะสามารถตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งเป็นผลกระบต่อจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น หากเจตจำนงประชาชนภายหลังการเลือกตั้งไม่สูญเปล่า ตลาดเศรษฐกิจ และตลาดการเงินของไทยไปต่อได้แน่นอน
นายพิธา ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือ Transition Team ได้เริ่มจากการพบปะพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือกันหลายประเด็นทั้งเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการสนับสนุน SME การหาแรงงานได้ตรงกับความต้องการ รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามค่าเงินเฟ้อ หรือการเติบโตของ GDP พร้อมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อบรรเทาทุกข์ประชาชนในช่วงของแพง ค่าแรงถูก ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท พรรคเพื่อไทยเสนอ 400 บาท แต่ยังมีมุมของผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจเรื่องการสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่า 2 ปีสามารถที่จะหักภาษีได้ หรือมาตรการลดภาษีให้กับ SME ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพใหญ่ในการประชุมของสภาอุตสาหกรรม
“ต้องยืนยันว่าเรายังเดินหน้าเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ตอนนี้กำลังเดินหน้ารับฟัง โดยในช่วงวันศุกร์นี้ (26 พ.ค.) จะพูดคุยกับหอการค้าแรงงาน สภา SME สภาแรงงาน เพื่อรับฟังอย่างรอบคอบ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นและต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติเพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งกลุ่มนายจ้างที่จะควบคุมต้นทุนของตัวเองได้ เพราะไม่ได้ขึ้นแรงมาก แต่ใช้วิธีการขึ้นน้อยและขึ้นบ่อย ส่วนลูกจ้างจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพพลังงานเกิดขึ้นได้จริง”
นายพิธาได้ตอบคำถามเรื่องค่าแรง 450 บาทของพรรคก้าวไกล ว่า มีหลักการว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการขึ้นค่าแรงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอาศัยการคำนวนค่าเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นจำนวนค่าแรงควรอยู่ที่ประมาณ 425-440 บาทต่อวัน พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 450 บาท ควบคู่กับมาตรการดูแลผู้ประกอบการไปด้วย ยืนยันไม่ได้ขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง ขึ้นแบบมีหลักการ หลักสากล ตอนนี้ยังมีเวลาก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ดังนั้นในเวลา 2 เดือนนี้ ผมจึงต้องเดินสายทำงานให้รอบคอบ” นายพิธา กล่าว. – สำนักข่าวไทย