กทม. 22 พ.ค. – วันนี้ (22 พ.ค.66) จะเป็นอีกวันที่บันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะ 8 พรรคการเมือง โดยการนำของพรรคก้าวไกล ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง และเลือกเวลา 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน ขณะที่เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาย้ำว่า ผลการพูดคุยจัดทำ MOU บรรลุผลไปได้ด้วยดี ส่วนเพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร?
ช่วงเย็นๆ เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า ผลการพูดคุยเพื่อจัดทำ MOU ร่วมกันเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.66) บรรลุผลไปได้ด้วยดี พรรคก้าวไกลต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและแกนนำของทุกพรรคที่เราจะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และวันนี้ (22 พ.ค.) พวกเราจะแถลง MOU ในเวลาเดียวกันกับการประกาศรัฐประการ เมื่อ 9 ปีก่อน
พรรคก้าวไกล แจงรัฐบาลผสมผลักดัน “วาระร่วม-วาระเฉพาะ”
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร? มีเนื้อหาระบุว่า
พรรคก้าวไกล ยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่าการจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่ง เราได้เดินหน้าเพื่อเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคการเมือง (รวมทั้งหมด 313 คน) ที่เราเชื่อว่ามีอุดมการณ์และมุมมองต่ออนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ที่สอดคล้องกันในภาพรวม ในเมื่อรัฐบาลก้าวไกลเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความชัดเจนว่ารัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระอะไรบ้าง เราแบ่งวาระออกเป็น 2 ส่วน
1.วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล (ระบุใน MOU) คือ วาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน
2.วาระ “เฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU) คือ วาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจาก (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ) นโยบายใน MOU ผ่าน 2 กลไกหลัก
2.1 ผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี
เช่น (หากพรรคก้าวไกลบริหารกระทรวงศึกษาธิการ) นโยบายการศึกษานอกเหนือจากใน MOU ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
2.2.ผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค
เช่น กฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคพร้อมเสนอสู่สภาทันทีที่สภาเปิด ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ใน MOU หรือไม่
พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าจะพยายามเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลที่เราสื่อสารกับประชาชนก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการพยายามบรรจุนโยบายเข้าไปใน วาระ “ร่วม” หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU เราจะผลักดันต่อผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่เรามีในสภาผู้แทนราษฎร แม้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวที่อ้างอิงจากหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก จะเป็นกระบวนการที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ในประเทศ ที่ยกระดับความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย และเพิ่มความชัดเจนกับประชาชนว่าในบริบทของรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยนโยบายที่ทั้งมีจุดร่วมและจุดต่างกัน รัฐบาลผสมนี้จะร่วมผลักดันและรับผิดชอบวาระอะไรเพื่อประชาชน พร้อมทิ้งท้ายในโพสต์ ฝากให้ประชาชนติดตามการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลและการเปิดรายละเอียด MOU ในวันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 16.30 น.
จับตา 8 พรรคการเมืองลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล เย็นนี้
เย็นวันนี้ สื่อทุกแขนงจะต้องไปปักหลักรายงานข่าวการลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศก็คงจะไม่พลาดที่จะเกาะติดเรื่องนี้
สำหรับ 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ มีจำนวนว่าที่ ส.ส. รวมแล้ว 313 คน
การลงนาม MOU ในวันนี้ จะมีขึ้นที่ห้องบอลรูมโรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ในเวลา 16.30 น. ซึ่งเป็น วัน และเวลาเดียวกันกับที่มีการประกาศรัฐประหาร เมื่อ 9 ปีก่อน
ก้าวไกล เผย MOU มีวาระร่วมกันกว่า 20 ประเด็น
เมื่อเช้านี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า MOU ที่จะแถลงร่วมกันในเย็นวันนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นวาระนโยบายร่วมกันที่จะผลักดันซึ่งทุกพรรคเห็นตรงกัน มีกว่า 20 ประเด็น และอีกส่วน คือ แนวปฏิบัติร่วมกัน 4-5 ข้อ เป็นวิธีทำงานร่วมกันที่จะไม่ทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงแนวปฏิบัติที่จะไม่ทิ้งกันระหว่างร่วมกันทำงาน
ศิริกัญญา บอกด้วยว่า ตอนนี้มี ส.ส.ที่ติดต่อมาว่าจะโหวตสนับสนุนให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐนตรี โดยไม่เข้าร่วมรัฐบาล คือ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งมี ส.ส. 1 คน และจนถึงขณะนี้ มั่นใจว่า นอกจากเสียงของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 313 เสียงแล้ว จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ได้ 63 เสียง ครบ 376 เสียง เพราะเท่าที่ได้พูดคุยกับ ส.ว.บางคนและกำลังนัดหมายไปพูดคุย แนวโน้มสัญณาณเป็นบวก เนื่องจากได้ชี้แจงใน 2 ประเด็นข้อกังวล จนเกิดความเข้าใจมากขึ้น ทั้งประเด็นมาตรา 112 และนโยบายต่างประเทศ ที่มีกระแสข่าวจะให้สหรัฐอเมริกา เข้ามาตั้งฐานทัพนั้น เป็นข่าวลือ ที่พรรคก้าวไกล จะได้ทำความเข้าใจกับสาธารณะต่อไป . – สำนักข่าวไทย