กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – กรณีพรรคก้าวไกล และพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการสื่อสารการเมืองที่ผู้สนับสนุนพรรคมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการตัดสินใจของพรรค
อาจารย์พงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารภาวะวิกฤติ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้สนับสนุนพรรคการเมืองมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการตัดสินใจของพรรค ถือเป็นสิ่งใหม่ในหน้าการเมืองไทย แต่ในโลกออนไลน์ปัจจุบันเรื่องนี้ถือว่าไม่ใช้เรื่องใหม่ เพราะคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเกือบ 100% และเราใช้โซเชียลมีเดียบนมือถือสูงมาก และมีเทคโนโลยีที่เราจะอ่านบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว แบบเรียลไทม์ ดังนั้น คนที่ส่งสารออกไป เราสามารถที่จะรู้เลยว่ากลุ่มเป้าหมายคิดอย่างไร ขณะเดียวกันสิ่งที่เราส่งไปถึงคนที่ส่งออกไปที่พรรคก็เร็ว ดังนั้น เป็นเรียลไทม์ ทำให้รู้ทันทีว่ากลุ่มเป้าหมายชอบหรือไม่ชอบอะไร ในไทยเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็นำเทคโนโลยีมาใช้ ถือว่าเข้ากับยุคสมัย
หากมองอีกแบบหนึ่ง ตัวนโยบายของพรรคการเมืองจะถือว่าเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่พรรคการเมืองจะส่งออกขายให้กับกลุ่มเป้าหมาย เขาควรจะรู้จักกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้วว่าคือใครบ้าง ที่สำคัญเข้าใจหรือรู้หรือไม่ว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่บนแพลตฟอร์มการสื่อสารแบบไหน เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ดังนั้น คอนเทนต์ที่พรรคการเมืองส่งออกไปถูกต้องกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นหรือไม่ พรรคการเมืองจึงต้องเข้าใจเทคโนโลยี กลุ่มเป้าหมายก่อน
พรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล ด้วยความที่เป็นพรรคฝ่ายค้านมานาน เขาได้ออกไปพบประชาชนเยอะ เขาสามารถที่จะเก็บสิ่งที่เขาอยากได้ สิ่งที่คนชอบหรือไม่ชอบ ตรงนี้ก็เหมือนข้อมูลการตลาดประเภทหนึ่ง จากนั้นก็มาฟอร์มเป็นนโยบาย จึงโดนใจประชาชน ดังนั้น เวลาเราส่งคอนเทนต์ออกไป พอโดนใจกลุ่มเป้าหมาย ก็รู้สึกว่าเราได้ตอบโจทย์ ทำให้คนพอใจกับพรรค ฉะนั้นพอพรรคทำอะไรผิดหรือไม่ถูกใจ จึงรู้สึกว่าจะต้องบอก ด้วยเทคโนโลยีเรียลไทม์ก็บอกได้เดี๋ยวนั้น หลายคนก็แชร์ ก็ไปได้รวดเร็วมาก .-สำนักข่าวไทย