ศาลรัฐธรรมนูญ 18 เม.ย. – ศาล รธน. ไม่รับคำร้องยุบพรรคคนงานไทย ไว้วินิจฉัย ย้ำ กกต. ต้องทำตามหน้าที่ ข้อกล่าวอ้างสู้คดีฟังไม่ขึ้น และไม่พบว่า กกต. กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่นายธีระ เจียบุญหยก หัวหน้าพรรคคนงานไทย ร้องประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมือง ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 เนื่องจากพรรคคนงานไทยไม่สามารถดำเนินการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน เป็นเหตุให้พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ประกอบมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (1)
โดยนายธีระเห็นว่าพรรคคนงานไทยจะสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองต่อเมื่อภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมือง มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 10,000 คน ติดต่อกัน 90 วัน นับแต่วันครบกำหนด 4 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (2) ดังนั้น ประกาศของคณะกรรมการ การเลือกตั้ง เรื่อง พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ลงวันที่ 30 มี.ค. 2566 ไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 45
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่ กกต. ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เนื่องจากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายพรรคการเมือง พรรคคนงานไทยไม่สามารถดำเนินการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน เป็นเหตุให้พรรคคนงานไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่นายธีระอ้างว่าพรรคคนงานไทยจะสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองต่อเมื่อมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 10,000 คน ติดต่อกันเกิน 90 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด 4 ปี นับแต่ที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเป็นการกล่าวอ้างเหตุตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งเป็นกรณีที่พรรคการเมืองเคยมีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คนแล้ว ต่อมามีจำนวนสมาชิกลดลงเหลือไม่ถึง 10,000 คนติดต่อกันเกิน 90 วัน ดังนั้น กรณีตามคำร้องยังไม่ปรากฏมูลกรณีว่ามีการกระทำใดของผู้ถูกร้องที่จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย.-สำนักข่าวไทย