ทำเนียบ 23 มี.ค.-ชาวปราจีนบุรี ยื่นร้องนายกฯ แก้ปัญหาด่วน หลังได้รับผลกระทบซีเซียม-137 ขอมาตรการชดเชยหลังถูกยกเลิกซื้อสินค้าการเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี ยื่นหนังสือผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ร้องเรียนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาซีเซียม-137 ที่หลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน จังหวัดปราจีนบุรี อย่างเร่งด่วน โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการในระดับชาติภายในหนึ่งสัปดาห์ โดยมีภาพประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ได้มอบกระเช้าผักสด หวังให้นายกรัฐมนตรีได้รับประทานและการันตีว่าเป็นผักที่ปลอดภัย
โดยนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบหนังสือ พร้อมกล่าวว่าว่า รัฐบาลได้สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบดำเนินการโดยเร่งด่วน
ด้านนายวิโรจน์ น้อยสำเนียง นายกสมาคมจิตอาสาพัฒนาปราจีนบุรี กล่าวว่าต้องการให้เอาผิดถึงบริษัทต้นทาง เพราะขณะนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และช่วงบ่ายจะเตรียมไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้กำกับตรวจสอบให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล
“โรงแรมถูกยกเลิก พืชผลไม้ของจังหวัดถูกส่งกลับ ทั้งนี้ขอให้มีการการันตีว่าสินค้าจะถูกตรวจสอบจากเครื่องมือที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ มอบให้ชุมชนไปตรวจสอบ บริษัทที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต้องรับผิดชอบ เรื่องเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีกในแผ่นดินปราจีนบุรี ทั้งนี้ต้องการให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลเรื่องนี้ โดยมีภาคประชาสังคมรวม เป็นกรรมการอยู่ด้วยไม่ใช่เพียงแต่หน่วยราชการรับผิดชอบอย่างเดียว” นายวิโรจน์ กล่าว
ด้านนางระตะนะ ศรีวรกุล ประธานสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัด กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่พบสารกัมมันตรังสี แต่สิ่งที่เกิดผลกระทบตามมา คืออาชีพการงาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ การเตรียมมาศึกษาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชน อยากให้แก้ไขระยะยาว เพราะประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ ว่าที่อยู่อาศัย มีความเสี่ยงกับสารกัมมันตรังสีในจุดอื่นอีกหรือไม่และขาดการประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งมีหน่วยงานเดียวที่รู้คือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นการจัดการกันเพียงไม่กี่หน่วยงาน
สำหรับมาตรการที่ชาวปราจีนบุรีเรียกร้อง จากนายกรัฐมนตรี มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นต้องเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนหาปริมาณรังสี และการกระจายตัว ระดมเครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญ สรุปผลให้เร็วที่สุด รวมถึงต้องมีมาตรการจัดการฝุ่นเหล็กและวัสดุต่างๆ ที่ปนเปื้อนซีเซียม-137 และการสื่อสารให้ข้อมูลต้องเป็นมืออาชีพ ระบุเวลาและเหตุการณ์ รวมถึงเส้นทางที่เกี่ยวข้อง
สำหรับระยะยาวต้องติดตามผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เพราะมีมาตรการเยียวยาฟื้นฟู ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมเปิดเผยข้อมูล ชนิดจำนวน ความรุนแรง มาตรการรับมือของวัสดุกัมมันตรังสี เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังขอให้มีมาตรการชดเชยความเสียหาย เช่น การถูกยกเลิกการซื้อสินค้าทางการเกษตร รายได้ที่หายไปจากภาคบริการและท่องเที่ยว โดยต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา และขอให้หน่วยงานออกหนังสือรับรองความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสีฟรี.-สำนักข่าวไทย