รัฐสภา 20 มี.ค. – “ชวน” แถลงขอบคุณสื่อสภาฯ นำเสนอพฤติกรรมนักการเมือง ชี้มีส่วนช่วยตัดสินใจวันกาบัตร ปลื้มผ่านกฎหมายหลายฉบับ เสียดายแผ่วปลายช่วงท้าย เหตุองค์ประชุมไม่ครบ เผยเริ่มต้นทำงาน 500 คน สุดท้ายเหลือ 393 คน พร้อมเล็งให้สถาบันพระปกเกล้าจัดหลักสูตรให้ ส.ส.
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตลอดการทำงานร่วมกัน 4 ปีที่ผ่านมาว่า วันนี้คาดหมายว่าน่าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาฯ ดังนั้น จึงถือโอกาสนี้รายงานสถานภาพของสภาผู้แทนราษฎรให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย โดยตัวเลขของผู้แทนราษฎรชุดนี้เริ่มต้น 500 คน แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ทำให้ ส.ส. ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค สิ้นสภาพไป 11 คน, มี ส.ส. ที่ศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่องเสียบบัตรแทนกัน 3 คน, มี ส.ส. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 4 คน กรณีขอสร้างสนามฟุตซอล, มี ส.ส.พรรคต่างๆ ที่ถูกศาลตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อมและไม่มีการเลื่อนลำดับทดแทน 4 คน และมี ส.ส. ลาออก ในช่วง 180 วัน ทำให้สมาชิกลดลงไปอีก 84 คน และเสียชีวิตในช่วงเวลานั้นอีก 1 คน ดังนั้น ในวันนี้จึงเหลือ ส.ส. อยู่ 393 คน
ทั้งนี้ หากทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาฯ ชุดนี้จะเห็นว่าเป็นชุดพิเศษที่หลังว่างเว้นให้มีการเลือกตั้งมา 5 ปี จึงเป็นเหมือนชุดที่เริ่มใหม่ สมาชิกที่เข้ามาใหม่ 500 คน ตอนเริ่มแรกนั้นจึงเป็นสมาชิกใหม่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในพฤติกรรม
นายชวน กล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โชคดีว่าสภาฯ ขยันทำงานในช่วงต้น ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายในช่วงต้นไม่มากนัก จึงไม่มีอะไรค้าง ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา แต่ในช่วงท้ายที่รัฐบาลส่งกฎหมายมาอีกหลายฉบับแล้วไม่นำองค์ประชุมมาด้วย จนตนต้องทำหนังสือถึงนายกฯ และเจ้ากระทรวงผู้เสนอกฎหมายนั้น แต่สุดท้ายองค์ประชุมก็ยังไม่ครบ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่สภาฯ อยู่ได้มาจนครบ 4 ปี ซึ่งไม่ได้มีอย่างนี้ทุกครั้งไป ถือว่าฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่จนเกือบครบถ้วน ถ้าไม่มองช่วงปลายที่มีกฎหมายค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง และร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้พิจารณา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เกือบจะพูดได้ว่ากฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านไปเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นช่วงปลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอเข้ามาใหม่และองค์ประชุมไม่ครบ
นายชวน กล่าวว่า ส่วนตนที่ได้นั่งเป็นประธานสภาฯ ตลอด 4 ปี ตนตั้งใจจะคุมสภาฯ นี้ให้ถึงที่สุด และคิดว่าสมาชิกใหม่ต้องการคำแนะนำหลายเรื่อง ซึ่งสมาชิกเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีปรากฏการณ์ใหม่คือ เรื่องการรักษาเวลาการอภิปราย ทำให้ทุกคนได้อภิปราย แต่มีบางเรื่องคือพรรคที่มีเสียงมาก อภิปรายไม่กี่คน ส่วนพรรคที่เสียงน้อยกลับอภิปรายมาก ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส.ของพรรคนั้นๆ
นายชวน กล่าวว่า ในการประชุมสถาบันพระปกเก้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางผู้ทรงคุณวุฒิได้อภิปรายเรื่องบทบาทของผู้แทนราษฎรว่ามีวัฒนธรรมที่แปลกออกไป คือเรื่องการแต่งกาย ตนจึงเรียนว่าทางสภาฯ ได้แจ้งไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่าสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ แม้จะอยากแสดงความสมัยใหม่ด้วยการแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่ข้อบังคับยังมีอยู่ ถ้าคุณไม่เคารพกฎเกณฑ์และกติกา สังคมประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ เราจึงให้สถาบันพระปกเกล้ากำหนดหลักสูตรสั้นๆ สำหรับสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อให้ส.ส. ได้เข้าใจภารกิจชัดเจน นอกจากนี้สมาชิก ส.ส.ได้ท้วงติงว่าใช้เวลาในกระทู้ถามมากเกินไป และสมาชิกส่วนใหญ่ใช้วิธีอภิปรายจนหมดเวลา จนไม่ได้ถามคำถาม เพราะไม่สามารถย่อความได้ และมีความรู้มากเกินไป ทั้งที่เวลาเป็นของมีค่า
นายชวน กล่าวว่า อนาคตคือการทำให้สิ่งที่ทำอยู่ 4 ปีนี้เป็นบทเรียนทั้งในทางบวกและทางลบ ในทางบวกคือการดำรงไว้ซึ่งหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งการออกกฎหมาย และการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส่วนทางลบคือ พฤติกรรมใดก็ตามที่เข้ามาหาผลประโยชน์ และการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมมาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อมาหาผลประโยชน์
“ถ้าพี่น้องสื่อมวลชนไม่ช่วยดำรงข่าวสารที่ให้ประโยชน์กับประชาชน ประชาชนก็จะไม่รู้ข้อเท็จจริง เช่น ความไม่รับผิดชอบของนักการเมือง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตัดสินใจในการเลือกตั้งว่าถ้าเลือกคนซื้อเสียงมาก็จะได้รับรัฐบาลที่ซื้อเสียง ถ้าเลือกคนดีเข้ามาก็จะได้รัฐบาลที่ดี เพราะรัฐบาลมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ” นายชวน กล่าว.-สำนักข่าวไทย