กทม. 10 มี.ค.- มท.1 มอบนโยบายผู้บริหาร มท. – ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ ต้องเป็นพ่อเมืองที่บริหารจัดการพื้นที่ในทุกมิติ พร้อมเร่งยกระดับการแก้ปัญหา PM2.5 ปัญหายาเสพติด และขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง
วันนี้ (10 มี.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยนายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ร่วมมอบนโยบายด้วย โดยมี นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ นางสาวสิริมา วัฒโน นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรม ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่เป็น “พ่อเมือง” เป็นผู้นำการบริหารพื้นที่ และเป็นผู้นำการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ชีวิตที่ดี ทั้งการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย การส่งเสริมด้านการทำมาหากินและการหารายได้ของพี่น้องประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยหยิบยกตัวอย่างกรณีการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในทุกมิติ ทั้งการทอ การตัดเย็บผ้าไทย ผ้าขาวม้า หรือผ้าชนิดอื่น ๆ ตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไทย ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรภาครัฐยังขับเคลื่อนได้ระดับหนึ่ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้นำการพัฒนาและร่วมกันบูรณาการกับทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“ในด้านปัญหายาเสพติดและการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ต้องจับมือกับทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ สาธารณสุข วัด สถานศึกษา และภาคประชาสังคม ที่เป็นภาคีเครือข่าย ผนวกกำลังกับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ระดมสรรพกำลังช่วยกันลด Demand Side และ Supply Side ของยาเสพติดให้ได้ ภายใต้แนวทางในการทำงาน (Framework) ที่เป็นโมเดลอย่างชัดเจน โดยในการลด Demand Side ที่เป็นต้นน้ำนั้น จะต้องไม่ให้มีผู้เสพรายใหม่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากการทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง เพราะครอบครัวสำคัญที่สุด หากเราทำให้ไม่มี Demand Side ก็จะไม่เกิด Supply Side และปัญหายาเสพติดก็จะหมดไปจากสังคมไทยได้ นอกจากนี้ ในด้านการติดตามผู้ได้รับการบำบัดฟื้นฟู ให้ใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงไปติดตาม (Follow up) ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก พร้อมทั้งให้กำลังใจครอบครัว ช่วยประคับประคองดูแลให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ด้วยความเข้าใจ และติดตามถามไถ่อย่างต่อเนื่อง” มท.1 กล่าวในช่วงต้น
มท.1 กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า เพื่อลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่หลายพื้นที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ให้บูรณาการทุกหน่วยเข้มงวดกวดขันมาตรการที่สอดคล้องกับระดับของค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ และหากว่ามีค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย ไม่ให้มีการกระทำกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยเร่งด่วน ทั้งด้านการสัญจร-คมนาคม การก่อสร้างที่พักอาศัย หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงกับสภาวะอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผาในที่โล่ง การเผาในพื้นที่ป่า ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย ต้องสร้างความรับรู้เข้าใจกับประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลและหากพบผู้กระทำความผิดต้องเร่งดำเนินคดีโดยทันที พร้อมทั้งให้ความรู้และระดมทีมระดับจังหวัดหาวิธีการที่นำเศษซากที่เหลือจากการเกษตรไปทำกระบวนการอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ เช่น ทำถ่าน ทำฟืน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษมากขึ้นและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาวให้ได้
“ในด้านการบริการภาครัฐที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับพลวัตความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบและใช้งานแอปพลิเคชัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) เพื่ออำนวยความสะดวกและสนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนในการติดต่อกับราชการโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานทะเบียน และให้กรมการปกครอง ได้ประสานความร่วมมือรวมทั้งชี้แจงให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกสังกัดได้รับทราบและเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานนั้น ๆ กับ DOPA-Digital ID เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้การบริการประชาชนในทุกมิติสอดรับกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งพร้อมที่จะเปิดตัวในชื่อแอปพลิเคชัน “ThaID”” มท.1 กล่าวเพิ่มเติม
พลเอก อนุพงษ์ฯ ยังได้กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะถึงนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้นำท้องที่ เตรียมการสนับสนุนทั้งด้านสถานที่และบุคลากร การสนธิกำลังพลในการอำนวยความสะดวกในพื้นที่เลือกตั้ง รวมไปถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ โดยเน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกคนเป็นข้าราชการและเป็นคนของทางราชการที่ต้องรับใช้พี่น้องประชาชน ดังนั้น ต้องวางตัวที่เป็นกลางทางการเมือง ตั้งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างสุจริต พร้อมทั้งกล่าวถึงการดำเนินงานในฐานะนายทะเบียนการจัดตั้งมูลนิธิ หรือการประกอบกิจการใด ๆ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามลงพื้นที่ตรวจสอบใบอนุญาตจัดตั้งมูลนิธิที่ผิดกฎหมายหรือมูลนิธิที่ไม่ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับ หากพบเจอสามารถขอคำสั่งศาลเพื่อยกเลิกมูลนิธินั้นในทันที และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบวีซ่า (VISA) การทำงานของผู้ประกอบการชาวต่างชาติว่ามีใบอนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้องถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบแฝงของนายทุนต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายหรือกระทำการโดยมิชอบภายในประเทศ อย่างเคร่งครัด
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ในเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นปัญหาหมักหมมและส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะทุกวันนี้มีการทิ้งขยะไม่ถูกที่และไม่ทิ้งในที่ทิ้งขยะ ทำให้เรามักพบขยะได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สาธารณะ ท่อระบายน้ำ แม่น้ำลำคลอง รวมไปถึงทะเล ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกระบวนการจัดการขยะที่ดี แต่ถ้าคนทิ้งขยะไม่นำขยะไปทิ้งให้ถูกที่ แม้จะมีมาตรการดีแค่ไหน ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนถึงคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ต้องช่วยกันควบคุมดูแล รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวบ้านทิ้งขยะในที่ทิ้ง ตลอดจนสร้างเสริมนิสัยการเก็บขยะ เป็นมนุษย์ 3ช (3Rs) ใช้น้อย Reduce ใช้ซ้ำ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่ Recycle และกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมรับผิดชอบพื้นที่บริเวณโดยรอบ รวมถึงการจัดการน้ำเสีย ซึ่งที่กล่าวมาเป็น ความท้าทาย (Challenge) ของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะทำให้พื้นที่ของเราเป็น “จังหวัดสะอาด” สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการส่งเสริมต่อยอดคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว และการพึ่งพาตนเอง เฉกเช่นที่พระองค์ให้ความสำคัญกับ “ดิน”และ “น้ำ” ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์โลก โดยเน้นย้ำว่า “ทำอย่างไรให้มีกินก่อน” ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุขในการดำเนินชีวิต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ด้านนายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเราเข้าสู่โลกของเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและดำเนินต่อไปได้ กระทรวงมหาดไทยจึงมีนโยบายผลักดันให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เกิดเป็นรูปธรรม อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่หน้าแล้ง จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ องค์การจัดการน้ำเสีย ที่สามารถเป็นผู้ช่วยและที่ปรึกษาด้านวิชาการในการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค ท้องถิ่น และประชาชน และขอฝากให้เน้นย้ำข้าราชการทุกคนต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เพราะเราจะมีผู้นำที่ดีได้ต้องมาจากการเลือกตั้งที่ดี .-สำนักข่าวไทย