กรุงเทพฯ 28 ก.พ.-“นฤมล” ยัน “บัตรป้อม 700” ทำได้จริง เกลี่ยงบแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำมาใช้ เตรียมเปิดนโยบายระดับภาค ยันไม่ดีลกับใคร รอผลเลือกตั้งก่อน มั่นใจ “พล.อ.ประวิตร” นายกฯ คนที่ 30 บ้านเมืองสงบ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึง นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรป้อม 700 ว่า ก่อนคลอดนโยบายดังกล่าวได้หารือในที่ประชุมและมีหลายความเห็น มีหลายตัวเลขที่นำเสนอ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนใน 4 มิติและ 700 บาทเป็นตัวเลขที่พรรคพิจารณาแล้วอย่างรอบคอบว่าสามารถทำได้
ส่วนนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือพรรคอื่น ที่ออกมาทีหลัง ตัวเลข 1,000 บาท หรือในอนาคตอาจสูงกว่า นางนฤมล กล่าวว่า ไม่อยากให้พรรคพลังประชารัฐ มีภาพนโยบายประชานิยมหรือแจกเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการให้เห็นภาพ นโยบายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว มีสวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ และสังคมประชารัฐ 3 เรื่องหลัก ต้องบอกประชาชนชัด ๆ ว่าเศรษฐกิจฐานรากจะทำอะไร วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจชุมชนมีอะไรบ้างที่เติมเช่นกองทุนหมู่บ้านหรือรูปแบบอื่น
“เป็นเรื่องธรรมชาติปกติที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง มักแข่งขันด้านนโยบายกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะดูถึงความเป็นไปได้ ไม่ส่งผลภาระงบประมาณการคลังระยะยาว ไม่กระทบต่อการจ่ายภาษีเป็นภาระหนี้ของประเทศในระยะยาว เพราะท้ายที่สุดจะทำไม่ได้อย่างยั่งยืน” นางนฤมล กล่าว
สำหรับข้อสงสัยว่าจะนำงบประมาณจากส่วนไหนมาดำเนินการ นางนฤมล กล่าวว่า จะจัดสรรเกลี่ยงบประมาณจากการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาใช้ และจะมีเฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะนำเงินไปช่วยคนมีรายได้น้อย และจะเกลี่ยเม็ดเงินตรงอื่นมาแก้ให้ตรงจุด เพราะตรงนี้ถือเป็นการให้ปลา แต่ต้องฝึกจับปลา เป็นการฝึกทักษะอาชีพ ให้เบ็ดตกปลา และแก้ปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ
“พรรคเปิดนโยบายต่อยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลประชาชนให้ครบ4 มิติ นโยบาย มีเรามีที่ทำกิน มีที่ดินไม่มีจน และมีน้ำไม่มีจน ส่วนนโยบายเร่งด่วนหลังจากนี้คือเรื่องค่าของชีพ ที่จะช่วยประชาชนทั่วไปซึ่งแบกภาระ หากตรึงราคาพลังงานลงมาได้ในแนวทางที่เป็นไปได้จะได้ช่วยลดภาระประชาชน ลดค่าของชีพจึงจะมีนโยบายมาตรการด้านพลังงานซึ่งขณะนี้ยังคุยกันอยู่เรื่องตัวเลขและวิธีการในรายละเอียด แต่รอตัวเลขที่เป็นไปได้ไม่ส่งกับผลกระทบและยั่งยืน เพราะไม่อยากให้สัญญาแล้วทำไม่ได้ จึงต้องรับฟังข้อเสนอจากหลายฝ่าย เพราะห่วงเรื่องภาระการคลัง เรื่องราคาพลังงานซับซ้อน” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐยังเตรียมนโยบาย ระดับภาค ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และภาคต่าง ๆ จึงจะออกนโยบายเป็นรายภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ และอยากให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภาค เพื่อดึงเศรษฐกิจและการจ้างงานความเจริญไปสู่แต่ละภาคไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองหรือมีแค่อีอีซีในภาคตะวันออกเท่านั้นแต่อยากให้เกิดทั่วทั้งประเทศซึ่งเป็นแนวคิดของคณะทำงานที่เสนอกัน และรับฟังจากคนในพื้นที่โดยตรง เมื่อเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีนโยบายเศรษฐกิจประชารัฐจะเข้าไปจับสานต่อ
นางนฤมล ยืนยันความพร้อมนโยบายชุดใหญ่ ของพรรคพลังประชารัฐ แต่รายละเอียดส่วนอื่นๆ หมวดหมู่การนำเสนอในรูปแบบป้ายหาเสียงสื่อสารไปยังประชาชน จะทยอยออกมา เพราะต้องรอดูในสังเวียน ว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ในลำดับต่อๆไปจะเน้นเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เอสเอ็มอี ที่จะทำให้กับพี่น้องคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว เช่นเดียวกับ เรื่องการวางตัวบุคคล
“ไม่กังวลเรื่องคนจะออกจากพรรค ยอมรับว่าเมื่อ4-5 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างกังวล แต่ขณะนี้พรรคเปิดตัวไป 98-99% แล้ว แม้บางคนที่ยังไม่ออกแต่ก็มีความชัดเจนว่าจะไม่อยู่กับพรรคได้แจ้งและได้เตรียมตัวว่าที่ผู้สมัครคนอื่นไว้รองรับแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังจะมีคนเข้ามาร่วมงานกับพรรคอีกเรื่อยๆ จนถึงภาวะล้นมีผู้ประสงค์ลงสมัครมากกว่าจำนวนเขตที่มี แต่ ยังไม่มีบิ๊กดีลเหมือนพรรคสร้างอนาคตไทยก่อนหน้านี้
ส่วนในพื้นที่กทม. นางนฤมล กล่าวว่า เดิมได้ 12 ที่นั่งเกิน1 ใน 3 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งเป้ารักษาที่นั่งไว้เดิมให้ได้ ซึ่งกทม.มีลักษณะแตกต่างกับพื้นที่อื่น ไม่ได้ตัดสินใจที่นโยบาย อาจตัดสินใจที่ตัวผู้สมัครหรือจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ หรือสิ่งที่พรรคไหนทำแล้วมีความหวัง ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดัก หลุดจากความเป็นขั้วทางการเมืองที่ทะเลาะกันมาร่วม 20 ปี
“ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ มักให้โอกาสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ แต่การให้โอกาสกลับกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาได้อีก ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่อยากทะเลาะจึงอยากเลือกพรรคที่ไม่มีฝักฝ่ายหรือพรรคที่อยู่ฝั่งประชาชนซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกันกับพรรคที่ต้องการทำงานเพื่อประชาชนไม่ต้องการทะเลาะกับใคร ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร จึงเอาจุดยืนเมื่อปี 2562 มาใช้อีกครั้ง คือเรื่องของการก้าวข้ามความขัดแย้ง” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐไม่จับขั้วทางการเมือง เปิดดีล กับเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองอื่น กระแสที่ออกมาเป็นการคาดการณ์ของคนนอก ยืนยันไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดคุยกันล่วงหน้า เพราะต้องรอดูผลลัพธ์จากการเลือกตั้ง เพราะถ้าจับมือกันก็ต้องหลบเลี่ยงเบี่ยงให้กัน แต่พลังประชารัฐสู้ทุกที่ทุกเขต หลายพื้นที่ในภาคอีสานสู้กับพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีดีลแน่นอน แต่หลังเลือกตั้งออกมาแล้ว ใครได้เท่าไหร่จะทำอะไรให้ประชาชนบ้าง จุดยืนคืออะไร ตรงนั้นค่อยมาเจรจากัน หลังเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนทำงานร่วมกับทุกพรรค เพราะขั้วของพรรคคือประชาชน และต้องการยุติความขัดแย้งในประเทศ
นางนฤมล กล่าวถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคคือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ส่วนที่พรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะได้ที่นั่งน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมาก็น้อมรับคำวิจารณ์เพื่อมาวิเคราะห์ตัวเอง เพราะเป็นประโยชน์จากสิ่งที่คนอื่นมองเข้ามาให้เราเห็นว่าเราต้องแก้ตรงไหน ไม่ได้เห็นว่าเป็นคำปรามาส แต่มองเป็นคำแนะนำ เพราะยังปรับตัวได้จนถึงวันเลือกตั้ง
“ทุกคนในพรรคเห็นตรงกันหมดว่าพล.อ.ประวิตร มีจุดเด่นคือความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชน เวลาไปสั่งงานที่ไหน เวลาลงพื้นที่ เวลาประชุม จะบอกว่าให้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าเอาว่าเป็นพวกใคร ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ต้องทำให้ ไม่ใช่ให้ทำในสิ่งที่พรรคได้เปรียบ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญ ที่จะเป็นผู้นำพาประเทศเพื่อขจัดความขัดแย้ง บุคลิกลักษณะความตั้งใจเป็น เช่นนั้น” นางนฤมล กล่าว
นางนฤลมล เชื่อว่า หากพล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ความสงบจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ตัวพล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐจะไม่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง ทุกอย่างมีจุดร่วม จะเห็นการเมืองนิ่งได้ และถ้าทำได้จริง ก้าวข้ามความขัดแย้งได้จริง จะเกิดเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองและประเทศจะเดินไปได้.-สำนักข่าวไทย