รัฐสภา 21 ก.พ.- ส.ว.ถกญัตติเห็นสมควรส่งเรื่องทำประชามติให้ยกร่างรธน.ใหม่พร้อมการเลือกตั้ง หรือไม่ ด้านกมธ.ย้ำรายงานมองว่าญัตติที่เสนอไม่มีกรอบส.ส.ร. และอาจทำไม่ทันเลือกตั้งครั้งนี้ ชี้ยังไงก็ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภาวันนี้ ( 21 ก.พ. )มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติ ขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ พร้อมกับรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ที่เสนอโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ รายงานผลการศึกษาที่พบว่า เหตุผลที่เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมีที่มาจากการทำรัฐประหาร ยังไม่เป็นเหตุผลอันสมควร เนื่องจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทยมีที่มาต่างกัน แต่สุดท้ายก็มีผลบังคับใช้เหมือนกัน และสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในฉบับเดิมให้มีความเหมาะสมได้ และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. อีกทั้งญัตติที่เสนอไม่ได้ระบุกรอบ ขอบเขต ที่ชัดเจน มีลักษณะมุ่งเพียงการตั้งคำถามแต่ไม่ได้มีสาระสำคัญที่แสดงถึงข้อบกพร่องเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงอาจกระทบหลักการปกครอง และโครงสร้างของประเทศไทย
ทั้งนี้การจัดทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีกรอบคือไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการเลือกตั้งได้ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม และหากต้องดำเนินการทำประชามติ ก็ต้องทำถึง 3 ครั้ง ใช้งบประมาณครั้ง 3,500 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้งบประมาณมากกว่าหมื่นล้านบาท
นายสมชาย ยืนยันว่า กรรมาธิการฯไม่ได้มีความขัดข้อง หากสังคมต้องการที่จะทำประชามติ และหากต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องมิให้ขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมาย
ขณะที่การอภิปราย โดยสมาชิกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาของกรรมาธิการฯ อย่าง นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายยืนยันว่า จะรับญัตติทั้ง 2 ที่เสนอมาจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมระบุเหตุผลว่า ญัตติดังกล่าวเป็นเพียงการสอบถามไม่ใช่การระบุถึงรายละเอียดและขั้นตอนตามที่กรรมาธิการฯได้สรุปรายงานมา ซึ่งสภามีหน้าที่ในการแจ้งเรี่อง และสุดท้ายคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ดังนั้นขั้นตอนยังมีอีกมากโดยบทสรุปยังไม่ได้ชัดเจนว่าจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทน ด้านกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการฯ เนื่องจากมองว่า การขอแก้ไขว่า ทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่ต้องการปลดล็อคจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือการปราบโกง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่หากส่งญัตติดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรี. สำนักข่าวไทย