รัฐสภา 15 ก.พ. – นายกรัฐมนตรี ชี้แจงตัวเลขการลงทุนในไทย พื้นที่ EEC มีการลงทุนแล้วจริง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนดูแลผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่ และ SMEs
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 19.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
การลงทุนเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ มีปัจจัยหลายส่วนที่ต้องเปรียบเทียบ อาทิ ปัจจัยของขั้วอำนาจของโลก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ แต่ไทยมีจุดเด่นทางด้านคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน ทักษะแรงงาน อุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งจะเหมาะกับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีมากกว่าใช้แรงงาน แรงงานไทยเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ค่าแรงขึ้นก็เป็นประโยชน์แก่คนไทย ปัจจุบันต้องเป็นการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง
เป้าหมายการดึงดูดการลงทุนนั้น เปลี่ยนจากโครงการดึงดูดการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นหลัก มาเป็นกิจการที่ใช้ทักษะขั้นสูง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แรงงานส่วนใหญ่ของไทยเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น มีแรงงานต่างด้าวสองแสนคนจากสามแสนคน จึงต้องพัฒนาแรงงานไทย 100,000 คน ให้มีคุณภาพ พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปัจจุบันต้องปรับให้เป็นกิจการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอุตสาหกรรมพวกนี้มีการขยายตัวของการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 2,108 โครงการ เงินลงทุน 379,097 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมีการเติบโตมากกว่า 200% ในปี 2565 และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมีการเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงโควิด เพราะฉะนั้น ความเข้มแข็งในวันนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่น และการยอมรับในระดับสากล ทั้งในเรื่องการรับมือสถานการณ์โควิด ระบบสาธารณสุข การบริการ การบริหารความเสี่ยงในสถานการณ์วิกฤติ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัยการเงินการคลัง ความต่อเนื่องในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สิ่งเหล่านี้คือการบริหารเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
ส่วนการลงทุนใน EEC โครงการที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้เริ่มมีการลงทุนจริงแล้ว ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ได้มีการดำเนินการขอออกบัตรส่งเสริมแล้ว 5,976 โครงการ ได้เริ่มลงทุนตามโครงการแล้ว 4,925 โครงการ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 82 ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด แต่หากพิจารณาเฉพาะคำขอที่ยื่นในปี 2561-2563 (ไม่นับรวมปี 2564-2565 ซึ่งเพิ่งอนุมัติไปไม่นาน) จะมีอัตราการเริ่มลงทุนสูงถึงร้อยละ 93 ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด โครงการที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการทยอยลงทุนจริง จากข้อมูลล่าสุด (ณ เดือนธันวาคม 2565) คำขอใน EEC ที่ยื่นในช่วงปี 2561-2565 ได้ดำเนินการขอออกบัตรส่งเสริมแล้ว จำนวน 1,687 โครงการ ในจำนวนนี้ได้มีการเริ่มลงทุนตามโครงการแล้ว จำนวน 1,437 โครงการ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 85 ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด แต่หากพิจารณาเฉพาะคำขอที่ยื่นในปี 2561-2563 (ไม่นับรวมปี 2564-2565 ซึ่งเพิ่งอนุมัติไปไม่นาน) จะมีอัตราการเริ่มลงทุนสูงถึงร้อยละ 95 ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งการลงทุนใน EEC คาดว่าจะเริ่มผลิดอกออกผลได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เพราะต้องมีช่วงเวลาในการก่อสร้างโครงการ และติดตั้งเครื่องจักร ก่อนที่จะเริ่มการผลิต มีรายได้เป็นภาษีให้กับประเทศ และจ้างงานคนไทย
นโยบายส่งเสริมการลงทุนเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการทุกชาติ ทุกระดับ ทุกขนาด โดยในแต่ละปี โครงการที่มีหุ้นไทยทั้งสิ้นและโครงการร่วมทุนระหว่างไทย-ต่างชาติ จะมีสัดส่วนถึงประมาณ 2 ใน 3 ของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด นักลงทุนไทยทั่วไปจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่แตกต่างจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 ล้านบาท และหากเป็น SMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมาก ก็จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน อีกทั้งยังจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมพิเศษ Cap วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของโครงการทั่วไปอีกด้วย ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนจึงมิได้เอื้อประโยชน์แก่นายทุนรายใหญ่ ตั้งแต่ปี 2558-2565 พบว่ามีการขอรับการส่งเสริมในโครงการระดับ SMEs (มีมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท และเป็นหุ้นไทยข้างมาก) จำนวน 5,111 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 214,174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของจำนวนโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการสนับสนุนให้ SMEs ไทยมีการลงทุนประกอบธุรกิจของตัวเอง นอกจากการให้สิทธิประโยชน์แล้ว BOI ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุน SMEs เช่น การสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็น SMEs ไทย โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กว่า 1,000 ราย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขยายตลาดชิ้นส่วนได้มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการประเมินในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2565) พบว่ามีมูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมรวมกว่า 224,300 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การฟื้นตัวเรื่องโควิด-19 นั้น นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณความร่วมมือคนไทยทั้งประเทศ โดย “ปีแรก” ของการระบาด ประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ที่สามารถฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดี เป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ที่มีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคระบาดและด้านสุขภาพได้ดีที่สุด ไทยเป็นอันดับ 5 ของโลก ที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากทั่วโลก และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินโครงการกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) และถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤติโควิด และประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของ “ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่” (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) ที่ส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์และสาธารณสุข” (Medical Hub) แห่งหนึ่งในโลก และต่อยอดเป็นตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ในอนาคต เป็นการเอาชนะสงครามโควิดของรัฐบาลได้อย่างงดงาม
การท่องเที่ยว ในปี 2565 หลัง “เปิดประเทศ” อย่างเป็นระบบ นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าไทยตามเป้า 10 ล้านคน รัฐบาลมั่นใจว่าปี 2566 จะมีชาวต่างชาติมาเยือนไทยไม่น้อยกว่า 23.5 ล้านคน สร้างรายได้จากกิจกรรมต่างๆ รวมถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมชาวจีนที่ยังคงปิดประเทศ
รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบ คือ สถานการณ์ระหว่างประเทศ และรัฐบาลพยายามใช้อำนาจภายในขอบเขตของกฎหมาย ขอให้รับทราบการทำงานของรัฐบาล
จากการหาเสียงของพรรคการเมือง ขอให้คำนึงถึงการเพิ่มภาระงบประมาณจำนวนมากให้กับประเทศ การกำหนดงบประมาณต้องพิจารณาถึงกฎกติกา เม็ดเงิน การใช้งบประมาณ ไม่ให้ผิด พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
สำหรับรายได้รัฐบาลไทย ในปี 2556 มี 2,156,677 ล้านบาท ในปี 2557 มีประมาณ 2,078,000 ล้านบาท ในปี 2558 มีประมาณ 2.2 ล้านบาท ปี 2559 มีประมาณ 2.3 ล้านบาท ปี 2560 มีประมาณ 2.3 ล้านบาท ปี 2561 มีประมาณ 2.5 ล้านบาท ปี 2562 มีประมาณ 2.5 ล้านบาท ปี 2563 มีประมาณ 2.3 ล้านบาท ปี 2564 มีประมาณ 2.4 ล้านบาท ปี 2565 มีประมาณ 2.6 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ารายได้มีการเพิ่มมากขึ้น และสำหรับรายจ่ายก็ได้นำไปดูแลประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกันสุขภาพทั้งแพทย์สมัยใหม่และแพทย์แผนไทย ยกระดับ อสม. ส่งเสริมการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามดูแล ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป. – สำนักข่าวไทย