ทำเนียบ 1 ก.พ.-ปลัดสธ. แจงข้อดีกำหนดยาบ้าเกิน 1 เม็ด เป็นผู้ค้า ป้องกันไม่ให้คนเข้าถึงยาเสพติด เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สธ.พรุ่งนี้ ชี้ ให้เป็นดุลยพินิจตำรวจ ฟันว่าเป็นผู้ค้า หรือผู้เสพ ต้องดูทั้งการครอบครองและพฤติการณ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกับและปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส. ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ว่า ในที่ประชุมวันนี้(1 ก.พ.) ไม่ได้มีการหารือประเด็นที่กำหนดให้การครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า แต่นายวิษณุ ได้มอบหมายให้ตนมาชี้แจงกับสื่อมวลชน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ ว่า ร่างกฏกระทรวงดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 107 ของประมวลกฏหมายยาเสพติดที่ให้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการออกร่างกฏกระทรวง หลักการ มีอยู่ 2 ส่วน คือ เวลาที่พบผู้มียาเสพติดในครอบครองก็ต้องแยกว่า เป็นผู้เสพ ผู้ใช้ หรือผู้ติด หรือเป็นผู้ที่ค้า ซึ่งผู้ที่ค้าเป็นที่ทราบกันว่า จะมีโทษรุนแรง ตรงนี้กฏหมายกำหนดวิธีการไว้ 2 ส่วน คือ 1.ให้ดูตามจำนวนเม็ด ซึ่งตรงนี้เป็นอำนาจของรมว.สาธารณสุขในการกำหนด 2.คือต้องดูพฤติกรรมประกอบด้วย ซึ่งตรงพฤติกรรมนี้จะเป็นแนวทางที่รมว.ยุติธรรมเป็นคนกำหนด
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับจำนวนเม็ด กฏหมายหลายฉบับเขียนไว้ไม่เป็นตัวเลขเดียวกัน บางกฏหมายเขียน 5 เม็ด บางกฏหมายเขียน 15 เม็ด ซึ่งเมื่อมีร่างประมวลกฏหมายอาญาฉบับใหม่ต้องมาทบทวนอีกทีว่าเป็นอย่างไร โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการบำบัดและรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตั้งแต่เดือนต.ค. และมีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ประชุมตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และมีประชุมคณะกรรมการด้านการแพทย์ ร่วมกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ มีข้อสรุปที่เห็นตรงกัน ว่า การมียาเสพติด เดิมที่กำหนดไว้ว่ากี่เม็ด ก็เลยทำให้ผู้ค้านำไปเป็นจุดอ่อน บางคนเป็นผู้ค้า พกไป 4 เม็ด ก็อ้างไปว่าเป็นผู้เสพ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยเกิดปัญหา ว่าเราจะกำหนดกี่เม็ด เราก็ไม่สามารถป้องกันหรือควบคุมให้กับประชาชนปลอดภัยในยาเสพติดได้ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า น่าจะกำหนดปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ คือ ขณะนี้จะกำหนดไว้เป็น 1 เม็ด อย่างไรก็ตามจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในวันพรุ่งนี้(2 ก.พ.)
นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อดีของการกำหนดไว้ไม่เกิน 1 เม็ด คือทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวัง และเห็นว่า ยาเสพติดนั้นอันตราย และไม่เสพ และอีกข้อคือ ทำให้เราสามารถมีผู้ที่ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งการบำบัดรักษาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สีแดงผู้ที่ติดรุนแรง จะต้องดูแลโดยสถานพยาบาลเฉพาะทาง กลุ่มสีเหลือง เป็นผู้เสพที่มีอาการปานกลาง ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้เปิดครบทุกจังหวัดแล้ว และกลุ่มผู้เสพที่มีอาการน้อย ที่เรียกว่า ผู้ใช้ จะได้รับการดูแลในศูนย์บำบัดระดับชุมชน เพราะฉะนั้นการกำหนดยาเสพติดที่เป็นจำนวนน้อย จะทำให้สังคมตะหนักว่า ไม่ควรมียาเสพติดเลย อีกทั้ง เมื่อไปกำหนดว่า มีจำนวนกี่เม็ดทำให้บางคนเข้าใจว่า มีกี่เม็ดก็ได้ตำรวจไม่จับ ดังนั้นการกำหนดร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้สังคมให้ระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้เข้าถึงยาเสพติด
ส่วนเรื่องบำบัดรักษา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา และไม่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เพราะจะกระจายการรักษาผู้ป่วยอาการน้อยไประดับชุมชน
ส่วนการพิจารณาการเป็นผู้เสพหรือผู้ค้าอยู่ที่ดุลยพินิจของใครนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่า จะเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ซึ่งต้องดูทั้งสองส่วน คือจำนวนการครอบครองและพฤติการณ์ ส่วนที่สังคมกังวลว่า จะมีการยัดยาเสพติดนั้น ก็ต้องช่วยกันสอดส่อง และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีวิธีปฏิบัติที่ระมัดระวังอยู่แล้ว
ส่วนความกังวลว่าลดจำนวนเม็ดลง จะทำให้ห้องขังเพียงพอหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข คำนึงว่า มีจำนวนครอบครองยาเสพติดเท่าไร ถึงจะกระทบกับกับประชาชนและสังคม ส่วนเมื่อประชุมคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบแล้วนั้น จะเสนอเข้าสู่ประชุมครม.เลยหรือไม่นั้น ขอให้ถามรมว.สาธารณสุข และดูการประชุมในวันพรุ่งนี้(2ก.พ.)ก่อน.-สำนักข่าวไทย