ดิ แอทธินี โฮเต็ลฯ 18 พ.ย.-“ปธน.มาครง” ปาฐกถาเวที APEC CEO Summit 2022 ชี้การสร้างสันติภาพและความมั่นคงคือกุญแจสำคัญ ช่วยโลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายจากความท้าทายใหม่ ด้านผู้ว่าฯ ททท. ประกาศแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
การประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565 ที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล เวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมเอเปค 2022 การประชุมในวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยนายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการบริหาร การประชุม APEC CEO Summit 2022 กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าการประชุม APEC CEO Summit 2022 เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดมาร่วมกันหาทางออกสำหรับอนาคตของเรา
ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Mr.Krishna Srinivasan กรรมการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในประเด็น Achieving Economic Resilience in APEC”
นายนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวปฐกถาหัวข้อ “การนำทางผ่านโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย” โดยชี้ว่า หลังจากที่โลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ 3 อย่าง คือ สงคราม ที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหารตามมา สองคือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในโลก ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง และสามคือ ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
“ความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการมีกฎกติกาโลกที่ทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าการสร้างสันติภาพและความมั่นคง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไปได้ การเจริญเติบโตของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียม” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว
จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความเท่าเที่ยมทางเพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต” ที่มีซีอีโอชั้นนำของไทยเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Timothy D. Dattels, สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) แคนาดา
การประชุมในช่วงเช้าจบลงที่การบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ว่านับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8.5 ล้านคน และ ททท.ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรายได้ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 80% ทั้งนี้ ททท.จะเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเน้นที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เป็นการเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง
“ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เน้นความรู้และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ซึ่งจะพยายามทำงานโดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้ทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนประกาศให้เกาะหมาก เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ” ผู้ว่าฯ ททท. กล่าว.-สำนักข่าวไทย