ปภ. 25 ก.ย.- ปภ.รายงานยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 8 จังหวัด ประสานพื้นที่เร่งระบายน้ำและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อม ความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่วันที่ 22 – 25 ก.ย. 65 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และสมุทรปราการ รวม 12 อำเภอ 18 ตำบล 30 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่วัดเกาะแก้ว และถนน ทล.212 บริเวณหน้าโรงสีพงษ์ชัย และหน้าโรงสีไชยกุล เส้นทางระหว่างบ้านสามแยก-บ้านโคกสว่าง ตำบลสามแยก อำเภอเลิงนกทา อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ระหว่างวันที่ 13 ส.ค. 65 – 25 ก.ย. 65 ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ตาก ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด ตาก อุบลราชธานี บุรีรัมย์พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 21 อำเภอ 138 ตำบล 710 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ดังนี้
- ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา และอำเภอบ้านตาก รวม 4 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 342 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ อำเภอพิบูลมังสาหาร รวม 10 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 660 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- บุรีรัมย์ น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ตำบลนิคม อำเภอสตึก รวม 5 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่
อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 88 ตำบล 535 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,937ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว - อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก อำเภอไชโย และอำเภอเมืองอ่างทอง รวม 11 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 802 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
- สิงห์บุรี เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี รวม 3 ตำบล 6 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 170 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
- ปทุมธานี เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก
รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป .-สำนักข่าวไทย