ทำเนียบฯ 22 ก.ย. – “พล.อ.ประวิตร” ประชุม คทช. เร่งรัดที่ทำกินให้ชุมชน ในพื้นที่ป่าไม้ถาวร อนุมัติแผนจัดการที่ดินปี 66-70 มุ่งช่วยเหลือเกษตรกร-ผู้ยากไร้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้ารายงานของคณะกรรมการฯ ในภาพรวม ผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ห้วงปี 58-65 เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งได้มีการจัดหาที่ดินโดยกำหนดเป้าหมายไว้ 1,483 พื้นที่ 70 จังหวัด และได้ดำเนินการจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว 75,869 ราย เนื้อที่ 520,094 ไร่ ใน 336 พื้นที่ รวมทั้งผลการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด จำนวนทั้งสิ้น 271 พื้นที่ 65 จังหวัด มีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จำนวน 49,062 ราย
จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์การมอบหมายหน่วยงานตามผลการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทพื้นที่ป่าไม้ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการ 2.ประเภทพื้นที่ป่าชายเลน ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการ 3.ประเภทพื้นที่เกษตรกรรม (ปลูกพืช, ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์, สระน้ำ, ทุ่งหญ้าและไม้ละเมาะ, พื้นที่ลุ่ม, ลานตากพืชผลทางการเกษตร) ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ และ 4. ประเภทพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ โดยกิจกรรมนอกเหนือหน้าที่รับผิดชอบของ ส.ป.ก. (พื้นที่ส่วนราชการใช้ประโยชน์, พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม, ปั๊มน้ำมัน, พื้นที่โล่งที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ชุมชน เป็นต้น) ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ และเห็นชอบการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ป่าไม้ถาวร เพื่อแก้ปัญหาการอยู่อาศัย โดยการนำมาจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช. รวมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและแผนการบริหารจัดการฯ ระยะแรก (5 ปี) สามารถดำเนินการได้ทันตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
พล.อ.ประวิตร กำชับคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กำกับ ติดตามเรื่องที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว และเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้นำแผนงานไปสู่การปฏิบัติ ให้เป็นรูปธรรม ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร และผู้ยากไร้ ให้อยู่ดีกินดี อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม การรับรู้ และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย