ศาลฎีกา 20 ก.ย.- ศาลฎีกายกฟ้อง“สุเทพ”กับพวก 6 คนไม่ผิดคดีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน 396 แห่ง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) สนามหลวง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)
โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.52-18 เม.ย.56 จำเลยที่ 1เเละที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอ ราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1,2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3,4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10,12 กับลงโทษจำเลยที่ 5 ,6ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลได้นัดพิจารณาครั้งแรก และได้อ่านอธิบายคำฟ้องพร้อมสอบคำให้การจำเลยทั้ง 6 ให้การปฎิเสธข้อต่อสู้คดี ศาลจึงได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ 3 นัด ครั้งเเรกวันที่ 2,30 มิ.ย.เเละวันที่ 7 ก.ค.นี้ และนัดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 19,21,26 ก.ค. จนเสร็จสิ้นแล้วจึงนัดคู่ความฟังคำพิพากษาในวันและเวลาดังกล่าว
โดยวันนี้ (20 ก.ย.) นายสุเทพเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ และมีนายถาวรเสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหากไทย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.กระทรวงศึกษาธิการเเละนางทยา ภรรยา นายจุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เเละกลุ่มเเกนนำ กปปส.เดินทางมาให้กำลังใจ
โดนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนให้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เเละวิธีจัดสรรงบประมาณรายปี ส่วนวิธีที่ทางสำงานตำรวจเเห่งชาติเสนอรูปเเบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเพียงเหตุผลประกอบ ทั้งนี้ ที่ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและจัดสรรงบประมาณให้นั้น ไม่เกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่ใช่อำนาจของครม.ซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยงานรัฐคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การที่จำเลยที่ 1 อนุมัติการจัดจ้างก่อสร้างแบบรายภาค 1-9 ภาค และเปลี่ยนเป็นวิธีอิเล็กทรอนิกส์รวมกันในครั้งเดียวโดยไม่เสนอให้ครม.อนุมัติ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานรักษาการณ์ ผบ.ตร.ได้ใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบตามระเบียบครม.การจัดทำรูปแบบ แนวทางรวมถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและขออนุมัติจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงาน และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลยพินิจเห็นชอบตามระเบียบสำนักนายกฯ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3-4 เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคาฯ ตามลำดับ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบครม.ในการดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในการเสนอราคา แม้ว่าจำเลยที่ 3-4 ไม่ได้เสนอบัญชีปริมาณวัสดุให้ครบถ้วน แต่ราคาทั้งหมดไม่มีผลเปลี่ยนแปลงในภาพรวม และจำเลยที่ 5 เป็นเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเอง เมื่อพิจารณาเอกสารความเห็น ย่อมไม่เกิดความเสียหายและไม่ปรากฎว่าพบว่าจำเลยที่ 3-4 แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบการกระทำจึงไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ 5-6 โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-4 กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5-6 กระทำความผิดด้วย มติเสียงข้างมากพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-6.