อสมท 25 ส.ค. – อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองมติ 5 ต่อ 4 สั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ คงไม่เกี่ยวกับกระบวนการวินิจฉัยช้าหรือเร็ว ชี้เป็นแง่ดี ลดแรงเสียดทาน ขอทุกฝ่ายหยุดคาดคะเนผล เงียบรอฟังศาล รธน.
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระ 8 ปี ว่า มติที่ออกมาถือว่าเป็นเสียงข้างมาก จะเอามาเป็นประเด็นที่จะพูดจาให้ขัดต่อความชอบธรรมคงเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่ามติจะออกมาแบบเฉียดฉิวก็ตาม
ส่วนการวินิจฉัยจะเป็นไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ ตนไม่สามารถตอบได้ว่าจะช้าหรือเร็ว และไม่อยากก้าวล่วงการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่อยากจะเอาประเด็นที่สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปยุ่งกับกระบวนการวินิจฉัย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่กระบวนการวินิจฉัยก็ต้องดำเนินต่อไป
“ส่วนจะช้าหรือเร็ว คงไม่เกี่ยวกับมติที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ เพื่อไม่ให้มีข้อครหา นินทา หรือถูกมองว่าไปทำอะไรที่เป็นการกดดันตัวคำวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สบายใจขึ้น และไม่ตกเป็นเป้าว่ายังเป็นนายกฯ ในระหว่างการวินิจฉัยคดี ซึ่งการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นผลดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีเอง และยังลดกระแสจากภายนอกอีกด้วย” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต กล่าว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต ยังกล่าวว่า เท่าที่จำได้ การสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างวินิจฉัยคดี ยังไม่เคยมี
“ผมว่าเราต้องเลิกคิดเรื่องแนวโน้มว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร พวกเราควรต้องเงียบและรอฟังคำวินิจฉัยว่าจะออกมาในรูปแบบใด แล้วค่อยมาว่ากัน การไปคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่กลับสร้างความสับสนมากกว่า” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต กล่าว
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุจิต กล่าวว่า สำหรับกระบวนการวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละชุดคงมีความแตกต่างกัน รวมถึงรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็มีความแตกต่างกันออกไปในแง่ของกระบวนการ จึงไม่สามารถตอบได้ว่า การวินิจฉัยคดีจะช้าหรือเร็ว รวมถึงต้องดูเรื่องของข้อมูลหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยคดีว่ามีพร้อมแค่ไหน จึงเป็นหลายปัจจัย และไม่ควรไปคาดคะเนว่า เรื่องนี้ควรจะเร็วหรือควรจะช้า อีกทั้งตนอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก กระบวนการคงไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้. – สำนักข่าวไทย