นครศรีธรรมราช 13 ส.ค. – เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบฝูงโลมาเผือกกำลังว่ายน้ำเล่นบริเวณอ่าวท้องหยี แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย
เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ จ.นครศรีธรรมราชสำรวจพบฝูงโลมาหลังโหนกกำลังว่ายน้ำเล่นบริเวณอ่าวท้องหยี ต. อ่าวขนอม อ. ขนอม จ. นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานะ “สัตว์คุ้มครอง” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2535 และอยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ทั้งนี้ โลมาเผือก มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า โลมาหลังโหนก (Humpback dolphin, Sousa chinensis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โลมาสีชมพู เป็นโลมาประจำถิ่นที่อาศัยบริเวณแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำ กินปลาและหมึกเป็นอาหาร อยู่รวมกันเป็นฝูง 10-20 ตัว อาจพบอยู่เป็นคู่หรือเดี่ยว แรกเกิดจะลำตัวสีเทาความยาวประมาณ 1 เมตร เมื่ออายุมากขึ้นจะมีประขาวเพิ่มมากขึ้นและเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวมากถึง 3.2 เมตร หนัก 250 กิโลกรัม โดยลำตัวจะมีสีขาวเทาหรือขาวอมชมพู จึงเป็นที่มาของชื่อ โลมาเผือก
สำหรับโลมาชนิดนี้อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งหากระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ มีทั้งปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน จะเป็นแหล่งเลี้ยงดูที่สำคัญของสัตว์วัยอ่อนที่สำคัญ โดยจะมีโอกาสพบสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นได้แก่ โลมาอิรวดี โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และพะยูนด้วย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬในประเทศไทย เช่น โลมาอิรวดีที่ปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โลมาอิรวดีที่อ่าวตราด จ.ตราด โลมาหลังโหนกหรือโลมาเผือกที่อ่าวขนอม จ.นครศรีธรรมราช โลมาหลังโหนกที่บ้านตะเสะ จ.ตรัง และวาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน นอกชายฝั่งของ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยย้ำว่า การชมโลมาและวาฬโดยทางเรือนั้น ต้องปฏิบัติตามคู่มือการชม และจำกัดจำนวนเรือเพื่อไม่ให้รบกวนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของโลมาและวาฬได้แก่ การกินอาหาร เลี้ยงดูลูก หรือผสมพันธุ์ ตลอดจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้ ทำให้บาดเจ็บ หรืออาจเป็นสาเหตุทำให้สัตว์เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังเช่น ผลกระทบจากเรื่องเสียงใต้น้ำ (Under water sounds) การเฉี่ยวชนจากเรือ (Vessel strike) เป็นต้น ผลกระทบของเสียง (Noise as a stressor) จะไปรบกวนการสื่อสารระหว่างกันในฝูง ลดความสามารถในการได้ยินเสียงระหว่างกัน ทำให้สูญเสียความสามารถในการกำหนดทิศทางการเดินทางและการหาเหยื่อ รบกวนการพักผ่อน หรือปฏิกิริยาของสัตว์ต่อสังคมในฝูงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเปลี่ยนไปทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว
นอกจากนี้ยังแนะนำได้การชมโลมาและวาฬในต่างประเทศซึ่งมี 3 วิธี คือ 1) ทางเรือขนาดกลางถึงใหญ่ 2) เรือแคนู (Sea kayak) และ 3) ทางบก โดยการปีนขึ้นไปดูบนที่สูงบริเวณชายฝั่ง (Hiking) การท่องเที่ยวเพื่อชมวาฬครั้งแรกคือการดูวาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1955 ที่ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1985 ที่ประเทศอังกฤษ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมวาฬหลังค่อม (Humpback whale) กันมาก เพราะวาฬหลังค่อมมีพฤติกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การโผล่ขึ้นกินอาหาร (Lunge feeding) การกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำทะเล (Breaching) การโบกสะบัดหาง (Tail-slapping) และหลังจากปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ธุรกิจการท่องเที่ยวชมโลมาและวาฬมีการแพร่กระจายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า 87 ประเทศ มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 9 ล้านคนต่อปี ประมาณรายได้จากธุรกิจนี้ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2000 จากนักท่องเที่ยวจำนวน 11.3 ล้านคน ประมาณ 1.475 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ. – สำนักข่าวไทย