สำนักงาน ป.ป.ช. 7 ส.ค.- “พล.ต.อ.วัชรพล” ประธาน ป.ป.ช.คาดหวังคะแนน CPI ไทยจะอยู่ในระดับ 1 ใน 20 ในอีก 15 ปี ระบุปีที่ผ่านมารับเรื่องร้องเรียนทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 3 พันเรื่อง ทำรัฐเสียหายกว่า 2 แสนล้าน
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ITA ทางออกประเทศไทย สู่การยกระดับ CPI” ว่า คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ในปี 2019 ของไทยอยู่ที่ 36 ถือว่ายังน้อยมาก เมื่อเทียบกับการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ระยะที่ 3 รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดไว้ว่าในช่วงปี 2565 ต้องทำคะแนนได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50 คะแนน
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติป้องกันการทุจริตระยะที่ 3 แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในปี 2561-2580 เป้าหมายที่สำคัญในแผนแม่บทประเด็นที่ 21 ที่ ป.ป.ช.รับผิดชอบ คือการให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทยให้อยู่ในลำดับที่ 1-20 มีค่าประมาณ 73 คะแนนภายในช่วงปี 2576-2580 แม้เป็นเรื่องยากแต่ ป.ป.ช. ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องดำเนินการให้ได้
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในบริบทการทำงานของป.ป.ช. ตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับปัจจุบัน และตามรัฐธรรมนูญได้มอบภารกิจในการทำหน้าที่ตรวจรับคำกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การทุจริตต่อหน้าที่ โดยในปี 2562 ป.ป.ช.รับเรื่อง ตรวจรับเรื่องกล่าวหาการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ซึ่งสิ่งที่ได้รับตอกย้ำค่า CPI ให้ต่ำลง มีเรื่องร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.จำนวน 13,082 เรื่อง ป.ป.ช.รับไว้พิจารณา 3,258 เรื่อง มีการกล่าวหาการทำงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ 236,000 ล้านบาท ถือว่างบประมาณแผ่นดินแต่ละปีสูญเสีย แม้จะมีมูลเพียงร้อยละ 25-50 ซึ่งตอกย้ำคะแนน CPI ที่ได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน เป็นเรื่องที่ยังน่าเป็นห่วง
ประธาน ป.ป.ช. ยังกล่าวถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติยังมีประเด็นแผนย่อยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ มุ่งการพัฒนาคน เน้นการปรับพฤติกรรมคนทุกกลุ่มในสังคม แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม รวมถึงกลุ่มนักการเมือง ตั้งเป้าว่าคดีนักการเมืองต้องลดลงเหลือร้อยละ 25 หรือไม่เกิน 10 เพื่อยกระดับแก้ปัญหาการทุจริต รวมทั้งการพัฒนาระบบและนวัตกรรมต่อต้านการทุจริตภาครัฐ เป็นอีกส่วนสำคัญในแผนงานป้องกันการทุจริต
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ยังมีบทเฉพาะกาลที่ เป็นตัวกำหนดและควบคุมการทำงาน โดยบังคับว่าจะต้องเร่งพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และสามารถขยายได้ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ละเลย โดยขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนที่เหลืออยู่ก่อนบทเฉพาะกาลจะหมดไปอีก 1,800 เรื่อง ที่จะทำให้ ป.ป.ช. จะต้องเร่งดำเนินการ การประเมิน ITA ซึ่งที่ผ่านมาป.ป.ช.มีการพัฒนากลไกและใช้งบประมาณน้อยลง แต่ทำให้การทำงานเร็วขึ้น จึงคาดว่าจะสามารถแถลงผลการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในปี 2563 ในช่วงปลายเดือนกันยายนซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม.- สำนักข่าวไทย