กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – บล.กรุงศรี ยังประเมินการเจรจาภาษีสหรัฐ ไทยจะถูกจัดเก็บภาษีไม่ถึง 36% คาด 19-25% หลังดีลอินโดฯ เวียดนาม ภาษีลดลง ด้าน สนค.ติดตามข้อมูลส่งออกไปสหรัฐ โดยไทย-เวียดนาม-อินโดฯ เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการเจรจา
หลังจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าเจราจาภาษีสำเร็จ จากที่ก่อนหน้านี้เจรจากับเวียดนามเรียบร้อยไปแล้ว โดยฝ่ายสหรัฐลดภาษีต่างตอบโต้ให้อินโดนีเซียเหลือ 19% จาก 32% ส่วนสหรัฐสามารถส่งออกเข้าตลาดอินโดนีเซียโดยปลอดภาษี ภายใต้ข้อตกลงนี้ อินโดนีเซียจะซื้อสินค้าสหรัฐ ประกอบด้วยพลังงาน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ, ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4.5 พันล้านดอลลาร์ฯ และซื้อเครื่องบินโบอิ้งอีก 50 ลำ โดยมีจำนวนมากที่เป็นโบอิ้ง 777 อย่างไรก็ตาม หากมีสินค้าจากประเทศอื่น ๆ มาสวมสิทธิ์ภาษีของอินโดนีเซีย สหรัฐจะเก็บภาษีบวกเพิ่มตามอัตราที่กำหนดจากประเทศที่สวมสิทธิ์ บวกกับอัตราภาษีที่อินโดนีเซียจะต้องจ่าย
ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่าวางแผนจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงประเทศในแอฟริกาและแคริบเบียน ในอัตราที่สูงกว่า 10% เล็กน้อย อย่างน้อย 100 ประเทศ โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้ส่งจดหมายถึงผู้นำหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงคู่ค้ารายใหญ่บางรายของสหรัฐฯ โดยประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราตั้งแต่ 20-50% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.


นายกรภัทร์ วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี วิเคราะห์ อินโดนีเซีย เป็น 1 ใน 5 ชาติ ที่ ทรัมป์ยื่นจดหมายชุดแรกและให้ความสำคัญ ร่วมญี่ปุ่น เกาหลี ไทย มาเลเซีย โดยปิดดีลได้ภาษี 19% ต่ำกว่าเวียดนามที่อัตราภาษี 20% อย่างไรก็ดี ในเชิงเปรียบเทียบข้อเสนอ โดยเฉพาะยกเว้นสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด ในขณะที่ไทยที่เสนอยกเว้นราว 69% ของสินค้าทั้งหมด ทำให้ยังต้องติดตามพัฒนาการการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังคง base case ประเมินว่าสหรัฐจะจัดเก็บภาษีไทยราว 19-25% จากที่ประกาศไว้ที่ 36%
ส่วนภาพแนวทางการปิดดีลที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าให้ไทยสูงขึ้น (เดิม 36%) ขณะที่กระแส EM Asia เด่นขึ้นไปอีกจาก Re- Allocation จาก Brazil ที่เจอภาษี 50% ขณะที่ MSCI Brazil เสีย Momentum นำหนักราว 4.5% (ใน EM) vs Thai 1-1.2% หนุนการหมุนเม็ดเงิน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินหากไทยโดนภาษี 36% ตลอดทั้งปี อาจส่งผลต่อมูลค่าส่งออกเครื่องแปลงไฟฟ้าไทยไปสหรัฐฯ ให้มีทิศทางหดตัว โดยปี 2567 การส่งออกเครื่องแปลงไฟฟ้าทั่วไปและสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคมของไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 84% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในหมวดนี้ , ไทยอาจเสียเปรียบเม็กซิโก ญี่ปุ่น และเวียดนามในการส่งออกเครื่องแปลงไฟฟ้าทั่วไป และอาจเสียเปรียบเม็กซิโก มาเลเซีย และเวียดนามในการส่งออกเครื่องแปลงไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคม และในปี 2568 คาดว่าการนำเข้าเครื่องแปลงไฟฟ้าจากไทยของสหรัฐฯ จะหดตัวลงราว 7%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรายงานด้วยว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.50-32.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.07 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่กลับมาเพิ่มช่วงบวกได้ต่อ หลังจากที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาด โดย CPI Inflation +2.7% YoY ในเดือน มิ.ย. ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจต้องระมัดระวังมากขึ้นในการประเมินจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดๆ ไป สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.40-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ และปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ กับหลายๆ ประเทศคู่ค้า
ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือน มกราคม-พฤษภาคม 2568 ไทยส่งออกไปสหรัฐ 27,098 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 27.2% โดยสินค้าอันดับแรกๆ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ,ผลิตภัณฑ์ยาง,เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประกับ, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนไทยนำเข้าจากสหรัฐ มูลค้า 8,553 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.98% โดยสินค้า 5 อันดับแรกนำเข้า ได้แก่ น้ำมันดิบ, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า,พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 40,501 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 29.98% โดย 5 อันดับแรกที่นำเข้าได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ,เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน,เคมีภัณฑ์,เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปจีน มูลค่า17,208 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น 17.87% โดย 5 อันดับแรกได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ,ผลไม้,ผลิตภัณฑ์ยาง,ยางพารา,เม็ดพลาสติก ,ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในขณะที่ เดือนมกราคม-เมษายน 68 หากไปดูสินค้าที่อินโดนีเซีย ส่งออกไปสหรัฐ รวม 20 รายการแรก มีมูลค่ารวม 9,379 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.7% ส่วนสินค้าที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐ รวม 42,663 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 24.1%. -511-สำนักข่าวไทย