กรุงเทพ 6 ก.ค.- SCB ชี้ลดดอกเบี้ยอย่างเดียวฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ ระบุทางออกประเทศไทย ต้องทำให้ครบ ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดดอกเบี้ย-ปล่อยสินเชื่อ เชื่อสหรัฐเจรจาไทยเข้มข้น เหตุไทยเกินดุลการค้ามากต้องประเมินรายกลุ่มอุตฯ คาดส่งออกทั้งปีทรงตัว
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังเผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยแต่ละสำนักประมาณการจีดีพีปี 2568 อยู่ที่ระดับ 1.5 – 2% ท่ามกลางความท้าทายหลายปัจจัย ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง ทำให้การบริหารจัดการในทุกธุรกิจมีความยากลำบาก แต่เชื่อว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส ทั้งในภาคธนาคาร เอกชน และเอสเอ็มอี ขอให้มองหาโอกาสให้เจอทำตัวเองให้มีประสิทธิภาพ บริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านการหาตลาดหรือช่องทางใหม่ๆเชื่อว่าทางรอดยังมี
ส่วนกรณีที่มองว่าสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อยากขึ้นนั้น ขอให้มองว่าบนโจทย์ของภาพรวมหนี้ที่ไม่ได้ลดลง และเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้โตตามเป้าหมาย ทำให้ศักยภาพในการกู้ของลูกค้าบางกลุ่มลดน้อยลง ดังนั้นธนาคารส่วนใหญ่จึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
“ดังนั้นโจทย์การเติบโตประเทศไทยเป็นโจทย์ที่ต้องบูรณาการ การจะให้ดอกเบี้ยลงอย่างเดียว แล้วปล่อยสินเชื่อบนความเสี่ยงที่ไม่มีการเติบโต ก็อาจจะเป็นการมองภาพไม่ครบถ้วนนัก ดังนั้นทำยังไงให้ค่อยเป็นค่อยไปกล่าวคือดึงเศรษฐกิจให้มีการเติบโตบ้าง ผ่อนคลายนโยบายในเรื่องดอกเบี้ย ผ่อนคลายนโยบายการปล่อยสินเชื่อ หากทั้ง 3 ส่วนถูกพิจารณาในบริบทที่สอดคล้องกันเชื่อว่าประเทศไทยยังพอมีทางออก“ นายกฤษณ์ กล่าว
ด้าน นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ยังต้องติดตามใกล้ชิด แม้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ออกมาระบุว่ามีโอกาสที่จะมีประเทศถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นประเทศที่เกินดุลกับการค้ากับสหรัฐไม่มากนัก ขณะที่ไทยเกินดุลการค้าอยู่ในลำดับ 11 จึงมองว่าสหรัฐจะให้ความสำคัญในการเจรจากับไทยอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาที่ออกมายังต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่สำคัญของไทยทั้งเวียดนาม จีน และต้องวิเคราะห์เป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมว่าคู่แข่งคือประเทศใด และถูกเรียกเก็บภาษีเท่าใร เมื่อเทียบกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าโอกาสที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษียังอยู่ในระดับ 10 – 20% และน่าจะค่อนไปทาง 20% มากกว่า
ประเมินภาพรวมการส่งออกทั้งปีทรงตัว หลังจากครึ่งปีแรกเร่งตัวไปแล้ว ส่วนครึ่งหลังปีหลังอาจจะโตใกล้ 0% และมองว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2569 ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมรับมือและปรับตัวกับความท้าทายที่จะเข้ามา.-516-สำนักข่าวไทย