กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – “พิชัย” รมว.พาณิชย์ แย้ม USTR พอใจพูดคุยเบื้องต้น หลังไทยคุมเข้มสินค้าด้อยคุณภาพ-สกัดการสวมสิทธิ์ ยันไทยเร่งเจรจาสหรัฐต่อเนื่อง เชื่อทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนา “ถอดรหัสนโยบายภาษีทรัมป์ :โอกาสสู่การค้ายุคใหม่” ว่า ในภาวะวิกฤตจะมีโอกาส ต้องวิเคราะห์ว่าการที่หลายประเทศตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเองจะได้โอกาสอะไร เช่น สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐถูกเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ขณะนี้ไทยถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพียง 10% จึงต้องมองหาโอกาสว่ามีสินค้าใดบ้างที่จะส่งไปทดแทนสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีศักยภาพ เช่น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ และอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันไทยครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ประมาณ 20%
ทิศทางการส่งออกของไทย ยังมีแนวโน้มสดใสและยังเป็นบวก โดยเดือนมีนาคม 68 ยอดส่งออกเติบโตสูงถึง 17.8% มูลค่ากว่า 29,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการส่งออกที่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้ในภาวะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ต้องยอมรับว่า อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์


ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กระทรวงพาณิชย์ จะใช้ 5 มาตรการหลักในการดำเนินการ ได้แก่
- เพิ่มมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายด้านการใช้ฉลาก เช่น ฉลากต้องมีเครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และเครื่องหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- การบังคับใช้กฎหมายด้านการใช้ฉลากอย่างเข้มงวด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยที่ต้องมีฉลากภาษาไทยกำกับอยู่
- เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะสามารถปิดการเจรจาได้ภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงการเจรจากับเกาหลีใต้และแคนาดา ซึ่งยังดำเนินต่อเนื่องแม้มีอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในบางประเทศ
4.ให้ความสำคัญการเปิดตลาดในอาเซียนเพิ่มเติม - ใช้มาตรการป้องกันและตอบโต้การค้าที่จำเป็นและเร่งด่วน
นายพิชัย ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการเร่งเจรจากับสหรัฐ ยืนยันว่าไทยติดต่อกับสหรัฐอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนาน เชื่อว่าการดำเนินการการเจรจาจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไทยยังคาดหวังว่าจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะทางการค้าอย่างเดียว ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยรายละเอียดกันต่อไป รวมถึงยังได้หารือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งจากธนาคารขนาดใหญ่และบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งให้ความสนใจบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางทางการเงินและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงความกังวลของภาคเอกชน ทั้งประเด็นสินค้าจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้ อาจทะลักเข้าไทย และความกังวลเรื่องการเจรจากับสหรัฐ ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังมีเวลาที่ถูกเลื่อนไป 90 วัน ซึ่งจากการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ของสหรัฐ ทราบมาว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับ 10 ประเทศเจรจาอันดับแรก โดยไทยโชคดีที่อยู่อันดับที่ 11 หรือ 12 ซึ่งโอกาสที่ไทยจะเข้าไปเจรจา 1-2 ครั้ง ก็น่าจะจบได้
ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินคดีกับสินค้าด้อยคุณภาพแล้วกว่า 29,000 คดี และตรวจพบบริษัทต้องสงสัยว่าเป็นนอมินีแล้ว 852 บริษัท มูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท อีกทั้งเตรียมตรวจสอบเพิ่มเติมอีกกว่า 49,000 บริษัท คาดว่าอาจมีนอมินี เพื่อป้องกันการแอบอ้างสิทธิ์การค้าไทย
“สิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐแจ้งมา ซึ่งไทยได้ดำเนินการ โดยการที่หากมีสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาแล้วใช้ไทยเป็นฐาน แล้วเปลี่ยนป้ายฉลากสินค้า ไทยก็คงจะไม่ยอมอีกต่อไป ที่สำคัญ จากการพูดคุยเบื้องต้น กับ USTR เท่าที่ทราบมา ทางสหรัฐก็พอใจ ที่ไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้ และแฮปปี้กับแนวทางที่ไทยเสนอไป“ นายพิชัย กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย