กระทรวงยุติธรรม 24 เม.ย.- รมว.ยุติธรรม ย้ำการแก้ปัญหายาเสพติดต้องเร่งด่วน พร้อมชี้ให้ความสำคัญกับการบำบัด-พัฒนาชุมชน เล็งประสานมหาดไทย ประเมินบทบาท กำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมประสาน หน่วยงานเกี่ยวข้อง แก้กฎหมาย ให้ผู้ต้องโทษยาเสพติด พ้นโทษ-บำบัดแล้ว ประกอบอาชีพ รปภ. ได้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2568 โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการประเมินผลและติดตามการแก้ปัญหายาเสพติด โดยพบว่าตัวเลขเชิงปริมาณที่ตั้งเป้าหมายไว้มีความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชน
พ.ต.อ.ทวี ระบุ สำนักงานสถิติแห่งชาติกำลังเร่งสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ซึ่งปัญหานี้จัดเป็นอันดับ 3 ที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข จึงได้ปรับแผนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ทั้งในด้านการป้องกัน การปราบปราม และการบำบัดรักษา เพื่อให้ประชาชนสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
พ.ต.อ.ทวีระบุเพิ่มเติม ต้องเน้นบทบาทชุมชน-ท้องถิ่น เพราะหมู่บ้านและชุมชนคือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา โดย การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็น ในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมประเมินบทบาทกำนันและผู้ใหญ่บ้าน หากพบการเพิกเฉยต่อปัญหาในพื้นที่จะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง ยังปรับแนวทางช่วยเหลือผู้ติดยา ลดผลกระทบเชิงกฎหมาย
นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาในกลุ่มทหารเกณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณ 70-80% โดย 10% อยู่ในระดับรุนแรง โดยกองทัพ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีกระบวนการทางการแพทย์ และการประเมินผล การบำบัดฟื้นฟูรักษา ซึ่งกองทัพมีบทบาทสำคัญในการช่วยบำบัดผู้ติดยา โดยใช้กิจกรรมที่สร้างวินัยและสุขภาพ พร้อมทั้งยอมรับความท้าทายในการฝึกทหารเกณฑ์ที่เป็นกลุ่มผู้ติดยา เพื่อให้ทหารกองประจำการ สามารถปรับตัวเข้าสู่สังคม และพัฒนาศักยภาพให้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกลุ่มผู้ต้องขังที่ขาดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเน้นย้ำว่ารัฐมีหน้าที่ต้องให้การศึกษาและพัฒนาศักยภาพผู้ต้องขัง โดยร่วมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวหลังพ้นโทษ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือการทบทวนกฎหมายที่ปิดกั้นผู้เคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด หรือต้องโทษในคดีอื่นๆที่ไม่ให้ประกอบอาชีพบางประเภท เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยเห็นว่ากฎหมายนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หน่วยจะหารือและทำการศึกษา ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ผู้พ้นโทษ จากคดีเสพยาสามารถไปประกอบอาชีพ รปภ . ได้
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เน้นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายปรับแผนการแก้ไขให้เกิดผลภายใน 6 เดือน และมอบหมายให้สำนักงานสถิติเป็นผู้ประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงาน พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน-313 .-สำนักข่าวไทย