กทม. 22 พ.ย. – นักวิเคราะห์มองบวก หลัง SPV ยกเลิก VTO เชื่อดีลทรู-ดีแทค เดินหน้าต่อเร็วขึ้น
น.ส.ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด (ทรู) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ส่งแจ้งรายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (มหาชน) จำกัด (ดีแทค) ว่าล่าสุดบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด และบริษัท ซิทริน เวนเจอร์ เอสจี (Citrine Venture SG Pte. Ltd) ได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งยกเลิกการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อนการทำคำเสนอซื้อตามกฎหมาย เนื่องจากเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 1 ปี นับจากวันที่บริษัททั้งสองได้ประกาศเจตนาที่จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขบังคับก่อนการทำคำเสนอซื้อ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2564 ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการของ ก.ล.ต.
“การแจ้งยกเลิกดังกล่าวไม่มีผลต่อการรวมธุรกิจแต่อย่างใด โดยทรูและดีแทคจะยังคงทำงานร่วมกันเพื่อให้การรวมธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ตามแผนต่อไป อีกทั้งไม่มีผลต่อทั้งผู้ถือหุ้นทรู และผู้ถือหุ้นดีแทค เพราะผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทจะยังคงสามารถขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามปกติ หรือสามารถรอภายหลังการรวมธุรกิจบรรลุผลสำเร็จ และหุ้นของบริษัทใหม่ถูกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผู้ถือหุ้นและนักลงทุนจะสามารถทำการซื้อขายได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ ทั้งนี้ บริษัทใหม่ในฐานะที่เป็นบริษัทเทเลคอม-เทค จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการให้บริการลูกค้าและการลงทุนในอนาคตที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งมุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทย สังคม เศรษฐกิจ และประเทศไทยต่อไป “
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการนักวิเคราะห์ได้ระบุถึงการรวมกิจการทรู-ดีแทคว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 64 มีการประกาศว่าจะมีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจ หรือ voluntary tender offer (VTO) แก่ผู้ถือหุ้นดีแทคและทรู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ร่วมรับตามการเสนอซื้อหลักทรัพย์ หรือจะดำเนินการต่อในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากควบรวมกิจการที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวตามกฎหมายแล้วมีกรอบเวลากำหนดไว้ให้สรุปเงื่อนไขบังคับใช้ก่อนทำการเสนอซื้อให้แล้วเสร็จในกรอบเวลา 1 ปี แต่การพิจารณารับทราบของ กสทช. ในการควบรวมทรูและดีแทค ได้ล่าช้าไปกว่า 5 เดือน ทำให้กระบวนการ VTO นั้นหลุดกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว จึงไม่มีผลใดๆ ต่อผู้ถือหุ้น และไม่มีผลต่อการรวมธุรกิจที่กำลังเดินหน้า ทั้งทรูและดีแทคจะยังคงทำงานร่วมกัน เพื่อให้การรวมธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ตามแผนต่อไป ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว กระบวน VTO ถือได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของทรูและดีแทค และความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการพิจารณาของ กสทช. ทำให้หลุดกรอบเวลาออกไป.-สำนักข่าวไทย