ฉะเชิงเทรา 30 มี.ค.- เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันและติดตามแก้ไขปัญหาช้างป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ผลักดันช้างป่าโขลงใหญ่ มีสมาชิกโขลงราว 40 ตัว กลับป่าอ่างฤาไน พบเข้ากินผลผลิตของเกษตรกร แม้จะพยายามผลักดันต่อเนื่อง แต่ช้างโขลงนี้ไม่ยอมกลับป่า
เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันและติดตามแก้ไขปัญหาช้างป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับอาสาสมัครในชุมชนรอยต่อของ จ.ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ผลักดันช้างป่าโขลงใหญ่ที่ออกมาหากินในชุมชน สมาชิกโขลงมีประมาณ 40 ตัว โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา แยกย้ายหากินที่ บ.หนองย่ากล่อม ม.11 ต.ทุ่งพระยา บ้านโนนสมบูรณ์ ม.14 ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี พิกัด บ.วังใหม่ ม.17 ต.วังท่าช้าง พิกัด บ.ห้วยกระโดด ม.14 ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จากนั้นเข้าไปพักอาศัยอยู่เขามะก่อง พื้นที่ บ.โนนสมบูรณ์ ม.14 ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์
แม้เจ้าหน้าที่จะผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่ช้างป่าโขลงนี้ไม่ยอมกลับเข้าป่า เนื่องจากในชุมชนมีพืชผลทางการเกษตรสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ รวมถึงมีหย่อมป่าให้เข้าไปพักอาศัย ทำให้จากเดิมที่เคยออกมาหากินแล้วกลับเข้าป่า ระยะหลังนี้จึงไม่กลับเลย ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากพืชผลที่เสียหาย อีกทั้งก่อนหน้านี้ “สีดอโหนก” ซึ่งออกไปหากินในหมู่ 4 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี แล้วทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต จนนายก อบต.เขาไม้แก้ว ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ายกลับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าในปัจจุบัน คือ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ 41 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง โดยความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดทำแผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 เป็นแผน 10 ปี ครอบคลุมทุกพื้นที่การกระจายของช้างป่า โดยมีพื้นที่เร่งด่วน 5 กลุ่มป่าที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าในภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งสิ้น 7 กลุ่มป่า
สำหรับกลุ่มป่าตะวันออกรอยต่อ 5 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี และระยอง) มีพื้นที่ 1.3 ล้านไร่ แต่ช้างเพิ่มขึ้นปีละ 8% ทุกปี ขณะที่ศักยภาพของพื้นที่รองรับช้างได้ 323 ตัวเท่านั้น ปี 2564 สำรวจพบ 470 ตัว คาดว่าจะขึ้นถึง 500 ตัวแล้ว เกินศักยภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติ ทำให้พบช้างป่าออกนอกพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มช้างป่าจะออกมารบกวนประชาชนถี่ขึ้น อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชน เรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า
ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา “การเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า” ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการคืนช้างสู่ป่าอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ปลอดภัยทั้งต่อช้างป่าและผู้ปฏิบัติงาน ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมของช้างป่า ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ได้ใช้วิธีการเฝ้าระวังและผลักดัน โดยการใช้แสงไฟร่วมกับเสียงคนในการผลักดันช้างป่า ตลอดจนเพื่อกำหนดทิศทางการผลักดันช้างป่ากลับเข้าพื้นที่ การเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าด้วยวิธีนี้จะช่วยให้คนปลอดภัย ช้างปลอดภัย คืนช้างสู่ป่าได้อย่างสันติ ทั้งนี้ ทีมเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า จำเป็นที่จะต้องมีประสบการณ์หรือเรียนรู้หลักการเฝ้าระวังช้างป่าก่อนปฏิบัติการ รวมถึงระหว่างปฏิบัติการก็ต้องมีความรอบคอบ มีสติ และไม่ประมาทด้วยเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย