กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผย ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทร” เป็นภูมิภาคแรกของโลก เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาสำคัญทางมหาสมุทร
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวในการแถลงข่าวว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม The UN Ocean Decade Kickoff Conference for Western Pacific and its Adjacent Areas เพื่อเริ่มดำเนินการทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2021 – 2030 ซึ่งเกิดจากการที่สมัชชาสหประชาชาติเห็นชอบให้มีการดำเนินการทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Ocean Decade)
ทั้งนี้ไทยร่วมกับ IOC WESTPAC และสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยจัดการประชุมเป็นภูมิภาคแรกของโลกในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 โดยแบ่งเป็นการประชุมผู้นำระดับสูงและการอภิปรายกลุ่ม มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมผู้บริหารระดับสูงของ UNESCO นอกจากนี้ ผู้นำระดับสูงจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ UNESCAP และ UNESCO จะกล่าวในประชุมระดับสูง
นายโสภณกล่าวต่อว่า ปัญหาทางมหาสมุทรส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมากเช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่ง ขยะ การลดจำนวนลงของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เป็นต้น ซึ่งจะมีการร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้วิทยาศาสตร์มหาสมุทร
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานและขับเคลื่อนให้จัดตั้งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานประสานงานการดำเนินงานทศวรรษแห่งมหาสมุทรในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก เพื่อขับเคลื่อนการให้บรรลุ 7 เป้าหมายในปี 2030 ซึ่งประกอบด้วย มหาสมุทรที่สะอาด อุดมสมบูรณ์และยืดหยุ่น/มีความสามารถในการปรับตัว มีผลผลิต พยากรณ์ได้ ปลอดภัย เข้าถึงได้ มีแรงบันดาลใจ และมีส่วนร่วม โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อมหาสมุทรที่เราต้องการ” (The science we need for the ocean we want) . – สำนักข่าวไทย