กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – รมว. วราวุธ เผย ห่วงปัญหาขยะติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 มอบกรมควบคุมมลพิษประสานกรมอนามัยและกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมกันขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อให้กำจัดง่ายขึ้น ลดขยะติดเชื้อตกค้าง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้ประชุมกับส่วนงานต่างๆ ของทส. เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น จากหน้ากากอนามัย ชุดทดสอบแอนติเจน รวมทั้งขยะจากโรงพยาบาลสนาม Hospitel โฮมไอโซเลชั่น เป็นต้น โดย 2 เดือนที่ผ่านมามีการตกค้างสะสม ไม่สามารถกำจัดได้ทันในบางพื้นที่ เนื่องจากระบบเตาเผามูลฝอยติดเชื้อมีจำนวนและมีกำลังรองรับมูลฝอยติดเชื้อต่อวันไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อตกค้างสะสมเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันไม่มีการคัดแยกเศษอาหาร เศษพลาสติก อุปกรณ์ทางการเเพทย์ ส่งผลให้มูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณมาก อีกทั้งเป็นขยะมีความชื้นสูงไม่เหมาะสมที่จะนำไปกำจัดด้วยการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ
ทั้งนี้ได้มอบหมายกรมควบคุมมลพิษประสานกับกรมอนามัยและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและเเก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยติดเชื้อตกค้าง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เสนอให้มีการคัดแยกขยะจากต้นทาง ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วย หากทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนคัดแยกขยะ ขะสามารถนำไปกำจัดได้เหมาะสมและรวดเร็ว โดยให้แยกขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติก และขยะติดเชื้อออกจากกัน ซึ่งเมื่อถึงปลายทางในการกำจัด จะนำขยะกลุ่มเศษอาหารและขยะพลาสติก ไปฆ่าเชื้อโดยการฉีดพ่นแอลกอฮอล์/น้ำยาฆ่าเชื้อ/สารฟอกขาว หลังจากนั้นนำไปฝังในบ่อฝังกลบ ส่วนขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลและสถานประกอบการต่างๆ จะต้องมีการกำจัดโดยการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 (ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข 2535)
ล่าสุด ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่ออธิบดีกรมควบคุมมลพิษว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห่วงใยปัญหาขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จึงสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ร่วมกันแก้ไข เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน. – สำนักข่าวไทย