กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – รมว.ทส. สั่งกรมทะเลและกรมอุทยานฯ ผนึกกำลังเดินหน้ามาตรการปกป้องคุ้มครองพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินทุกมาตรการในการปกป้องคุ้มครอง “พะยูน” เนื่องจากสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบให้พะยูนขาดแคลนอาหาร พบพะยูนที่มีลักษณะผอมมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำให้พะยูนมีอาหารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกยตื้นเพิ่มขึ้นและอาจต้องเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตของพะยูนได้ตลอดเวลา เนื่องจากพื้นที่ใหม่ๆ มีกิจกรรมทางน้ำ การเดินเรือ มีการทำประมง ซึ่งประชาชนมีการดำเนินกิจกรรมเป็นปกติ โดยไม่รู้ว่ามีการเคลื่อนย้ายของพะยูนเข้ามาในพื้นที่ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้
ทั้งนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมระดมความคิดเห็นในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนเกยตื้นให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดมาตรการหลัก 4 ประการ ในการแก้ไขปัญหาพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ตลอดจนกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มอาหารให้กับพะยูน คือ การปลูกหญ้าบนบกแล้วนำมาเป็นอาหารให้พะยูน การสั่งซื้อหญ้าทะเลเข้ามาเสริม และการกั้นเขตแหล่งหญ้าทะเลธรรมชาติเพื่อให้หญ้าทะเลสามารถเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้ร่วมกับอธิบดีกรมอุทยานฯ นำทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมกับเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของทีมอาสาสมัครงานวิจัยสำรวจพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับ บริเวณจุดชมวิวอ่าวป่าคลอก จากการสำรวจพบพะยูนคู่แม่-ลูกกำลังว่ายน้ำ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบเครื่องดื่มแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงทีมอาสาท้องถิ่นและผู้นำชุมชน ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังคุ้มครองพะยูนและติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างใกล้ชิด ตลอดจนร่วมประชุมหารือกับนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์พะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- จัดตั้งคณะทำงานในการประสานงาน
- จัดตั้งทีมอาสาสมัคร และชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังคุ้มครองพะยูน
- จัดทำประกาศ/ป้ายประชาสัมพันธ์การจำกัดการสัญจรหรือลดความเร็วเรือ และแผนที่เส้นทางหรือแหล่งอาศัยพะยูน ให้ประชาชน ชุมชนชายฝั่ง และผู้ประกอบการเดินเรือได้รับทราบ
- ดำเนินการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล โดยการปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่ที่กำหนด จากนั้นนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงเสริมอาหารพะยูน บริเวณท่าเทียบเรือราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พร้อมดูการสาธิตทำแปลงเสริมอาหารพะยูน โดยใช้สาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง นำมาเป็นอาหารเลียนแบบธรรมชาติให้กับพะยูน
ทั้งนี้ กรม ทช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกับกรมอุทยานฯ เพื่อเสนอของบกลางเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการสำรวจและติดตามประชากรพะยูน เพื่อการวางแผนอนุรักษ์ต่อไปในระยะยาว ที่ผ่านมากรม ทช. ได้มีการวางแนวทางจัดเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์พะยูนเกยตื้นในทุกพื้นที่ ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยให้มีการสอบอบรมการช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงสร้างโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และระยอง เพื่อรองรับการช่วยเหลือหรือดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ป่วย อีกทั้งทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งมอบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับชุมชนในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังผู้ประกอบการเดินเรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเรือเจ็ทสกีให้ช่วยกันระมัดระวังขณะเดินเรือ หรือทำกิจกรรมทางทะเล ให้ชะลอความเร็วหากเข้าใกล้ฝั่ง รวมถึงเขตพื้นที่คุ้มครองพะยูนและหญ้าทะเล อีกทั้งเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงช่วยดูแลและเฝ้าระวัง หมั่นตรวจเช็คเครื่องมือประมงขณะทำประมงอย่างต่อเนื่อง งดใช้เครื่องมืออวนขนาดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการทำประมงบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหรือพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูน เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนติดอวนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตลอดจนงดเว้นการเดินเรือผ่านแหล่งหญ้าทะเล หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทาง ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต ในส่วนกรณีหากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือเกยตื้นตาย สามารถแจ้งข่าวสารให้กับกรม ทช. หรือโทรแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล หมายเลข 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือและนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากต่อไป “
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ จังหวัดตรัง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง เดิมเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบว่า หายไปกว่าสองหมื่นไร่ ซึ่งมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ที่เป็นแหล่งของการเกิด การอยู่อาศัย การเกิดขึ้นของหญ้าทะเลก็ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นส่วนหนึ่งที่มองว่าจะทำอย่างไรให้หญ้าทะเลกลับคืนมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่กรมอุทยานฯ ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรี คือ กรมอุทยานฯ จะนำเงินรายได้ของกรมฯ มาจัดทำคอกอนุบาลพะยูนก่อน ตามที่อธิบดีกรม ทช. ได้กำหนดพื้นที่ควบคุม เร่งอนุบาลพะยูนที่สุขภาพไม่แข็งแรง และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคาม
พร้อมกันนี้จะเร่งจัดทำแผนงบประมาณโดยจะขอสนับสนุนจากงบประมาณกลางของรัฐบาล เพื่อนำมาสร้างศูนย์ฟื้นฟู ศูนย์เพาะเลี้ยงหญ้าทะเล งานวิจัย และการลาดตระเวนเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพะยูนทุกมาตรการ ถ้าทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ ตนเชื่อมั่นว่าในอนาคตพะยูนจะกลับมามากขึ้นเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในส่วนของการทำคอกให้พะยูนได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะเลือกบริเวณหาดราไวย์ และหาดบางขวัญ ป่าคลอก รวมทั้งจะมีการดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อ่าวพังงาเป็นพื้นที่แหล่งพะยูนได้มีการอพยพมาด้วย. -512 – สำนักข่าวไทย