fbpx

นายกฯ ห่วงน้ำท่วม กทม. สั่งเดินหน้ามาตรการรับฝน

กรุงเทพฯ 1 มิ.ย.-นายกฯ ห่วงฝนตกหนัก น้ำท่วม กทม. สั่งการทุกหน่วยเร่งเดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สทนช. ผนึกกำลังเร่งวางแผนทั้งระบบ ป้องกันไม่ให้ “น้ำฝน-น้ำเหนือ-น้ำหนุน” บรรจบกัน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีห่วงสถานการณ์น้ำในฤดูฝน 2567 จากที่จะเกิดสภาวะลานีญา รวมถึงผลคาดการณ์ปริมาณฝนซึ่งปีนี้อาจมีฝนตกมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10% จึงเกรงว่า อาจกระทบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นายกรัฐมนตรีจึงเรียกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งกรุงเทพมหานคร สทนช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมราชทัณฑ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น ร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วม โดยได้กำชับให้กทม. และสทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและดำเนินการตาม 10 มาตรการฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานวางแผนจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เสี่ยงที่เป็นชุมชนแออัดเป็นหลั เพราะทุกครั้งที่ฝนตกเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากมาก


ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนรับสถานการณ์อย่างรัดกุมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด พร้อมให้เร่งขุดลอกคูคลองและสร้างคันกั้นน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนที่ฝนจะตกหนักในช่วงเดือนกันยายน 2567 ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ โดยเฉพาะอุโมงค์ระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ กทม. เร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาล ทั้งการคาดการณ์ ชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยง และแจ้งเตือนประชาชน การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบระบายน้ำ บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบความพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ พร้อมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำที่ถูกต้อง และการสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย เป็นต้น พร้อมรายงานให้ สทนช. รับทราบอย่างต่อเนื่อง


เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาจาก 3 สาเหตุคือ “น้ำฝน” ที่ตกหนักในพื้นที่ “น้ำเหนือ” ที่ไหลมาจากภาคเหนือและภาคกลางตอนบน และ “น้ำหนุน” คือ ภาวะน้ำทะเลหนุน ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องบูรณาการร่วมกันทำงานวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พื้นที่ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยกรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน จะติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิดและกำหนดเกณฑ์ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

กรมชลประทานจะมีการตัดยอดน้ำและหน่วงน้ำในพื้นที่ตอนบนโดยใช้แก้มลิงเช่น ทุ่งบางระกำ บึงราชนก บึงบอระเพ็ด เป็นต้น คาดว่า จะสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วค่อยๆ ปล่อยลงมาสู่พื้นที่ตอนกลางและตอนล่าง

ส่วนพื้นที่ตอนกลางจะวางแผนจัดจราจรการระบายน้ำ โดยผันน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสักและผันออกฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลผ่านกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อีกด้วย


สำหรับพื้นที่ตอนล่าง กทม. เตรียมพร้อมเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมซึ่งมี 737 จุด โดยเร่งตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม ตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ พร้อมจัดเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร แนวฟันหลอและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ และตรวจสอบสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เร่งรัดกำจัดวัชพืช ขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่นๆ ตลอดจนการประสานขอความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์และกองทัพบก เพื่อเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำทั่วกรุงเทพฯ

พร้อมกันนี้ให้เตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลที่เหมาะสม พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำให้สามารถเร่งแก้ไขปัญหาได้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเตรียมแผนในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง ในการช่วยเร่งระบายน้ำท่วมถนน เป็นต้น รวมทั้งให้คนในชุมชนช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงหรือแนวคันกั้นน้ำชำรุด กลับมายัง สทนช. เพื่อประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งมั่นใจว่า จะสามารถช่วยลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ เรื่อง พายุ “มาลิกซี” โดยระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (1 มิ.ย.67) พายุโซนร้อน “มาลิกซี” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนแล้ว และเมื่อเวลา 04.00 มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป

พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย.-512.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

น้องชายรัวยิงพี่สาวตายกลางงานศพแม่ อ้างฉุนไม่ให้ร่วมจัดงานศพ

น้องชายชักปืนรัวยิงพี่สาวเสียชีวิตกลางงานศพแม่ ภายหลังน้องชายเข้ามอบตัวกับตำรวจ อ้างเหตุผลฆ่าเพราะโมโห รู้สึกว่าพี่สาวใจดำมากที่กีดกันไม่ให้ตนช่วยจัดงานศพแม่

บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ

เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมสืบนครบาล บุกทลายโรงงานผลิตยาเถื่อน ย่านทุ่งครุ มีเบาะแสต้นตอการทะลักของยาเขียวเหลือง ตะลึงพบซากจิ้งจกตายในหม้อต้ม ขณะที่เจ้าของโรงงานยันประกอบอาชีพโดยสุจริต

หมอวินิจฉัยโรคผิด ฉีดยาแก้แพ้ให้ จนตาบอด

พนักงานไอทีสาว วอนเยียวยา หลังหมอวินิจฉัยโรคผิด ฉีดยาแก้แพ้จนมองไม่เห็น สุดท้ายย้ายโรงพยาบาล ฟันธงเป็นโรค “สตีเวนส์จอห์นสัน ระดับ10” พบเพียง 6 ใน 1 ล้านคนเท่านั้น

ข่าวแนะนำ

น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจเชียงราย คาดเสียหาย 400 ล้าน

พื้นที่เขตเศรษฐกิจของเทศบาลนครเชียงรายจมน้ำ ขณะที่ระดับน้ำกกยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง และเกิดน้ำผุดดันท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมกระจายเป็นบริเวณกว้าง คาดเสียหาย 400 ล้านบาท

นาทีเขาถล่ม วิ่งไม่คิดชีวิต รอดปาฏิหาริย์

นาทีเฉียดตาย ภูเขาถล่มขณะชาวบ้าน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กำลังช่วยกันตักดินโคลน ทำร่องระบายน้ำออกจากบนถนนในช่วงน้ำท่วม วิ่งหนีไม่คิดชีวิต รอดปาฏิหาริย์

นายกฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมน้ำท่วมเชียงราย-ภาคเหนือ

นายกฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมน้ำท่วมเชียงราย-ภาคเหนือ ยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอกระทรวงต่างๆ ช่วยประชาชนออกจากปัญหาโดยเร็วที่สุด เร่งทำระบบเตือนภัยและเยียวยา

น้ำท่วมเชียงราย

แม่น้ำกกเพิ่มสูงต่อเนื่อง-ประชาชนยังรอการช่วยเหลือ

แม่น้ำกกยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง ทำให้น้ำท่วม จ.เชียงราย ขยายวงกว้าง เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด บางจุดที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมครั้งนี้ก็ไม่รอด ทำให้ชาวบ้านติดเกาะ ขณะที่หน้าสนามบินเชียงราย น้ำท่วมแล้ว