กรุงเทพฯ 25 ต.ค.- “พัชรวาท” สั่งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศยกระดับการรับมือฝุ่น PM2.5 รวมถึงการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า โดยวันพรุ่งนี้จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ยกระดับกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัดซึ่งเป็นแผนเฉพาะกิจรับสภาวะเอลนีโญในปี 2567 ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชน
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจติดตามความพร้อมการปฏิบัติงานของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในที่เริ่มเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งเตรียมมาตรการรับมือกับทุกมิติ พร้อมยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน
ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่คาดการณ์พยากรณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กล่วงหน้า แสดงค่าผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก และเป็นศูนย์สื่อสารเพื่อยกระดับการแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ กรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำกับติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้มีความคล่องตัว สื่อสารในเชิงรุก ต่อเนื่อง เข้าใจง่าย สามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ รวมถึงประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สำหรับมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ได้กำชับให้ทั้งควบคุมไฟในป่า การเผาในพื้นที่เกษตร และการควบคุมการเกิดฝุ่นในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพมหานครไว้แล้ว
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเร่งยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นในทันที หลังเริ่มพบปรากฎการณ์ฝุ่นแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงได้เตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 นี้ ที่มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ให้มีความเข้มขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 โดยในวันพรุ่งนี้จะนำมาตรการยกระดับกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด ตลอดจนมาตรการยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรองรับสภาวะเอลนีโญในปี 2567 ซึ่งความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นจะทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงได้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดหมอกควันและฝุ่นละอองทั้งระบบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน
สำหรับมาตรการยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนไปสู่ประชาชนนั้น นับจากวันนี้ไปศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
– ระดับที่ 1 การรายงานสถานการณ์ประจำวัน และการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ในทุกวัน ช่วงเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทาง Facebook live ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมแนวทางการปฏิบัติตัว
– ระดับที่ 2 การรายงานสถานการณ์ประจำสัปดาห์ พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น 7 วันล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการปฏิบัติตัวในช่วงอาทิตย์นั้น โดยจะเป็นการรายงานร่วมกัน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข และ ผู้ว่าราชการจังหวัด
– ระดับที่ 3 การรายงานกรณีพิเศษเมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ในกรณีสถานการณ์ PM2.5 เข้าขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเข้ามามีผลกระทบต่อประเทศไทย จะให้ ศกพ. รายงานสถานการณ์ต่อประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งแนวทางการปฏิบัติตน
– ระดับที่ 4 กรณีมีประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะจัดให้มีการสื่อสาร เสวนา โดย ศกพ. เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาให้ความรู้ และความเข้าใจต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 จะเกิดความแห้งแล้งมากขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจึงกำหนดมาตรการรับมือแก้ไขหรือจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในทุกมิติ ทั้งในด้านระบบกลไกการทำงาน ข้อมูล งบประมาณ กฎระเบียบ และยกระดับการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง เข้าใจง่าย และสามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังสถานการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจ รับทราบการดำเนินงานของทุกภาคส่วน
สำหรับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 หลักในกรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ดีเซลประกอบด้วยรถบรรทุกและรถกระบะคิดเป็น 57% ดังนั้นมาตรการที่จะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติคือ ทั้งกระทรวงคมนาคม ตำรวจจราจรกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานครจะต้องเข้มงวดการตรวจสอบ/ตรวจจับรถควันดำโดยเฉพาะการเข้ามาในเขตเมืองชั้นใน การตรวจสภาพรถยนต์ กวดขันวินัยจราจร พื้นที่ก่อสร้าง ต้องสนับสนุนประชาชนในการบำรุงรักษารถ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและรถสาธารณะ การนำน้ำมันยูโร 5 มาใช้อย่างเต็มพื้นที่ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องควบคุมโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่น ส่วนพื้นที่รอบนอก ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนเกษตรกรช่วยกันไม่เผาตอซังฟางข้าว
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ได้ยกระดับมาตรการขึ้นให้มีความเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยจัดทำเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมการรับมือฝุ่นละออง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมน้ำมันกำมะถันต่ำ ทำให้ฝุ่นลดลง การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อยกลับการเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า เร่งนำระบบ GAP PM 2.5 Free มาใช้ และส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดการเผา
สำหรับผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ 07.00 น. ปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ แต่พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯโดยผลตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
– ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 4.5 – 20.5 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 8.1 – 18.7 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12.5 – 31.9 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 6.7 – 19.8 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 6.1 – 12.4 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 16 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 15.5 – 51.7 มคก./ลบ.ม.
สำหรับสาเหตุที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มสูงในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากความกดอากาศสูงที่เริ่มแผ่เข้ามาปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย จึงทำให้เกิดสภาพอากาศที่นิ่ง ความเร็วลมที่มีกำลังอ่อน ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายได้ โดยจะยังเกิดต่อเนื่องถึงวันพรุ่งนี้ (26 ตุลาคม) จากนั้นจะมีโอกาสเกิดฝนตกในพื้นที่ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงได้
ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ สามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK.-สำนักข่าวไทย