กรุงเทพฯ 10 ก.พ. – รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ เผย นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งจัดตั้ง “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง” เพื่อแก้ปัญหาทั้งช้างป่าและช้างบ้านทุกมิติ โดยมีเรื่องเร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาช้างออกจากป่ามาทำลายพืชผลของชาวบ้านและการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเช่นเดียวกับการเยียวยาจากภัยพิบัติ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งจัดตั้ง “คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง” เพื่อแก้ปัญหาช้างทุกมิติ คณะกรรมการชุดนี้ เรียกง่ายว่า “คณะกรรมการช้างชาติ” มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการช้างป่า อนุกรรมการช้างบ้าน และคณะทำงานด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่
ในส่วนของกรมอุทยานฯ นั้น เตรียมจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติารผลักดันช้างป่า” ขึ้นมาโดยเฉพาะใน 16 กลุ่มป่าซึ่งมีปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลอาสินของประชาชน บางครั้งทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ชุดปฏิบัติการดังกล่าวจะทำหน้าที่ผลักดันช้างเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ก่อนจะออกมานอกป่า ขณะนี้เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานำเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ไปจัดตั้งชุดปฏิบัติการเพื่อทำหน้าที่เต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ยังจะเสนอของบกลางเพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยต้องเยียวยาเร็วที่สุดและเหมาะสมกับความเดือดร้อน เป็นลักษณะเดียวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยกรมอุทยานฯ จะเร่งหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ให้ทันการประชุมคณะกรรมการช้างชาตินัดแรกที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 เมษายนนี้
นายอรรถพลกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ช้างออกจากป่าเนื่องจากประชากรช้างมีมากเกินศักยภาพของพื้นที่ กรมอุทยานฯ ได้นำโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์มาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าแหล่งอาหารตามหลักวิชาการ แต่เห็นว่า มีความจำเป็นต้องทำเป็นเขตควบคุมพิเศษประชากรช้างหรือเขตกักกันช้างในพื้นที่ที่ช้างมีประชากรช้างจำเป็นจำนวนมาก โดยทำแนวกั้นเพื่อปรับพฤติกรรม แล้วจัดทำแหล่งน้ำแหล่งอาหารเสริมให้เพียงพอ ตลอดจนควบคุมช้างเกเรให้อยู่ในพื้นที่จำกัด รวมทั้งป้องกันการชนกัน โดยอาจเริ่มที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว และจันทบุรีซึ่งมีปัญหาช้างป่าออกนอกป่าบ่อยครั้งและรุนแรง
อีกแนวทางหนึ่งคือ การคุมกำเนิดช้างตามหลักวิชาการซึ่งมีงานวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เริ่มมีการทดลอง รวมทั้งจะประสานขอข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศมาประกอบการดำเนินการ
พร้อมกันนี้ย้ำว่า การแก้ปัญหาเรื่องช้างออกจากป่านั้น กรมอุทยานฯ หน่วยงานเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานภายใต้กลไกของ “คณะกรรมการช้างชาติ” ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทุกมิติแล้ว.-สำนักข่าวไทย