กทม. 25 มี.ค.- ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติสภาวิชาชีพนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทยเข้าพบและประชุมร่วมกับ พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บช.น. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ห้องปารุสกวัน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ประเด็นหารือเรื่องแนวทางการทำงานของสื่อในสถานการณ์การชุมนุม หลังเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีค.2564 ที่มีนักข่าวได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของตำรวจ และสถานการณ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่มีผลกระทบกับสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม โดยในที่ประชุมองค์กรวิชาชีพนำเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนภาคสนาม บรรณาธิการสื่อหลายสำนักที่ได้เปิดรับฟังข้อเสนอก่อนหน้านี้ สรุปเป็นปัญหาในการทำงานในพื้นที่ชุมนุม
โดยองค์กรวิชาชีพ ยืนยันความมีเสรีภาพของสื่อมวลชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ควรจะให้มีสื่อมี”พื้นที่ที่ปลอดภัย” ในการรายงานข่าวได้ ไม่ใช่กันให้ออกจากพื้นที่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายในการรายงานข้อเท็จจริง และได้สะท้อนปัญหาการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่บางครั้งใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชน พร้อมกับปฏิเสธการใช้ปลอกแขนสื่อมวลชนที่จะมีการดำเนินการจัดทำและลงทะเบียนโดยฝ่ายตำรวจ ยืนยันที่จะใช้ปลอกแขนสื่อมวลชนที่ออกโดยองค์กรวิชาชีพเท่านั้น ซึ่งจะมีการออกแบบใหม่ให้เห็นเด่นชัด มีความคงทนถาวร และลงทะเบียนป้องกันการแฝงตัวการเป็นสื่อมวลชน
พร้อมกับยืนยันว่าปลอกแขนสื่อมวลชนเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการแสดงตัว ไม่ใช่ใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างเพื่อละเมิดกฎหมาย นอกจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำสัญลักษณ์อื่นที่ไม่ใช่ปลอกแขน อาทิ เสื้อกั๊กสะท้อนแสง ที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศใช้ในพื้นที่ชุมนุม
องค์กรวิชาชีพสื่อ เสนอให้ตำรวจแจ้งประชาสัมพันธ์ตำรวจที่สลับสับเปลี่ยนมาปฏิบัติภารกิจควบคุมฝูงชนว่า สื่อมวลชนใช้สัญลักษณ์ใดแสดงตน พร้อมกับสะท้อนปัญหาที่รับแจ้งจากสื่อมวลชนภาคสนามว่ามีตำรวจบางคนใช้ปลอกแขนที่อาจจะคล้ายของสื่อมวลชน ที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดได้ ซึ่ง ผบช.น. รับปากและยืนยันจะสั่งการการผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติเช่นนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการชุมนุมองค์กรวิชาชีพสื่อจะจัดให้มี “ผู้ประสานงาน” ของสื่อในภาคสนามโดยอาจเป็นสื่อที่มีอาวุโสหรือเป็นที่รู้จักของคนในภาคสนามเป็นตัวแทน สำหรับประสานงานกับทางตำรวจที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสาน รวมถึงทำหน้าที่ประสานกับแกนนำผู้ชุมนุมเมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้าที่จะมีสัญลักษณ์ ปลอกแขนสีขาว ขลิบสีส้ม
ขณะเดียวกัน องค์กรวิชาชีพสื่อ สะท้อนว่าเนื่องจากมีสื่อมวลชนหน้าใหม่ อายุงานยังน้อยจำนวนมาก ไม่เคยผ่านประสบการณ์ทำข่าวการชุมนุม และไม่เคยผ่านการอบรมโครงการอบรมการรายการข่าวในสถานการณ์ขัดแย้งฯ หรือ safety training ขององค์กรวิชาชีพ จึงเสนอจัดอบรมหลักสูตรเร่งรัด พร้อมกับจะจัดทำคู่มือการทำข่าวในสถานการณ์ขัดแย้ง เน้นการชุมนุมทางการเมือง
ข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย https://www.tja.or.th/view/activities/media-movements/947233