9 ก.ค. – สพฐ.เตรียมส่งเด็ก 3 คน เข้าสู่ขบวนการปรับความคิด ร่วมเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยจากเหตุความรุนแรง สร้างความเข้าใจและลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน
จากเหตุนักเรียนหญิงชั้น ม.2 ถูกเพื่อนร่วมชั้นและรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย บังคับกราบเท้า ซ้ำถูกจับหัวกระแทกพื้นนั้น นายธัญวิชญ์ ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ได้ตั้งโต๊ะแถลงร่วมกับนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา
โดยทาง กัน จอมพลัง ระบุว่า ครอบครัวของเด็กหญิงวัย 13 ปี ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ ส่งข้อมูลแจ้งมาหาตนให้ช่วยเหลือ ซึ่งนักเรียนทุกคนที่อยู่ในคลิปเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ในวันเกิดเหตุเพื่อนของน้องวัย 13 ได้เรียกน้องไปเอาของที่ห้องเรียน ตอนแรกน้องไม่อยากไป แต่เพื่อนอ้างว่าเจ็บขา น้องเลยต้องมาหา พอน้องเดินเข้ามาในห้อง เพื่อนน้องได้ไล่เพื่อนในห้องคนอื่นออกจากห้อง ก่อนมีการทำร้ายกันดังคลิปที่ปรากฏ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุ ทางครอบครัววัย 13 ได้ไปแจ้งความไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายคู่กรณี แต่ทางญาติมีความประสงค์ให้ฝ่ายคู่กรณีเข้ามาขอโทษด้วยเช่นเดียวกัน หลังจากได้รับเรื่อง ตนได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และทางโรงเรียน เพื่อให้มีการประชุมร่วมกันในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว
ด้านนายธีร์ ระบุว่า ภายหลังจากที่รับเรื่องมีการสั่งการจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ต้องบอกว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น มีการเรียนรู้ยังไม่สมบูรณ์ อาจมีการตัดสินใจที่คลาดเคลื่อน หลังจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ เพื่อเปลี่ยนแนวคิดทั้งระบบ ทั้งตัวเด็กที่ก่อเหตุเอง และโรงเรียน เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง โดยมีระยะเวลาของแผนที่วางไว้ประมาณ 3 เดือน
นายธัญวิชญ์ ผอ.รร. ระบุว่า โรงเรียนมีข้อมูลว่า ผู้ถูกกระทำเป็นเด็กพิเศษที่มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งทาง รร. มีการจัดการเรียนการสอนรวมกับเด็กคนอื่น ๆ แต่มีการประเมินผลการเรียนตามศักยภาพของเด็ก สำหรับเด็กคู่กรณี ทาง รร. มีแผนที่จะปรับพฤติกรรมเด็กในการเปลี่ยนความคิด โดยจะส่งเด็กพร้อมกับผู้ปกครองไปเป็นจิตอาสาที่ รพ. เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ให้เรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายใต้การประเมินของนักจิตวิทยาเด็กว่าอนุญาตให้เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่ และต้องมั่นใจว่าเด็กจะไม่กลับไปประพฤติแบบเดิม ถ้าประเมินผ่านก็จะนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเดิม ซึ่งระหว่างการทำจิตอาสาจะมีการเรียนออนไลน์ควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ “กัน จอมพลัง” ระบุเพิ่มเติมว่า การนำเด็กเข้าสู่ระบบอีกครั้ง อยากให้พาเด็กที่ถูกกระทำกลับเข้าสู่ระบบก่อน เพื่อปรับสภาพจิตใจ แล้วค่อยให้เด็กคู่กรณีกลับเข้ามาทีหลัง เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความเครียด และกลับมาร่วมเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นได้เหมือนเดิม. -420 -สำนักข่าวไทย