ศาลอาญา 24 มิ.ย. – “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” มาตามนัดศาลไต่สวนมูลฟ้องคดี “พล.ต.ต.จรูญเกียรติ” หมิ่นประมาทฯ ยืนยันไม่มีการยอมความ หรือไกล่เกลี่ยแน่นอน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ตัวเองเป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรณีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาจากการที่รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เดินทางมาศาลตามนัดไต่สวนมูลฟ้อง เบื้องต้นทราบว่าฝั่งของ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ขอเลื่อนการนัดไต่สวนคาดว่าจะมีการนัดไต่สวนในครั้งหน้า ส่วนที่มีการจงใจใส่ความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องได้นำข้อมูลซึ่งอยู่ในสำนวนไปให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทั้งที่รู้ว่าจะต้องมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ มีหน้าที่เป็นเพียงพนักงานสอบสวนสิ่งที่ทำได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 คือการรวบรวมข้อมูล และส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้มีอำนาจในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน รวมถึงแสดงความคิดเห็นวินิจฉัยคดี หรือพิพากษาคดี จึงทำให้สังคมเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดไปแล้ว จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง ที่ผ่านมาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในคดีที่มีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็น หริอวินิจฉัยคดี ชี้นำสังคมซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาจำคุกไปแล้ว ยืนยันจะไม่มีการยอมความ หรือไกล่เกลี่ยอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีมติ 10:0 ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมติดังกล่าวจะทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับมาทำหน้าที่ รองผบ.ตร. เลยหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ต) เพราะถือเป็นศาลปกครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีอำนาจชี้ว่าจะให้ตนกลับไปทำหน้าเลยหรือไม่ แม้ว่าผลของกฤษฎีกาจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่กฤษฎีกาเป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาในคดีอื่นๆ ศาลก็รับฟังความเห็นของกฤษฎีกา พร้อมย้ำว่า อย่าลืมว่าองค์คณะกรรมการกฤษฎีกามีใครบ้าง ที่ประกอบไปด้วยอดีตประธานศาลฎีกา รวมถึงอดีตเลขากฤษฎีกา และปลัดกระทรวงยุติธรรม ฉะนั้นมติ 10:0 ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อสุรเชษฐ์ จะกลับเข้า ตร. เมื่อไหร่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่จะกลับหรือไม่นั้น ต้องว่าไปตามกฎหมาย แต่ตนจะชี้ให้เห็นว่าวันนี้จะต้องยึดหลักตามกฎหมาย ถ้าวันนี้ยังให้ความยุติธรรมกับตนเองไม่ได้ ในวันข้างหน้าจะให้ความยุติธรรมกับตำรวจ และประชาชนได้อย่างไร ซึ่งวันนี้หลักกฎหมายต้องเป็นไปตามกฏหมาย ไม่เช่นนั้นจะมี พ.ร.บ.ตำรวจฯ ไว้ทำไม นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า คำสั่งใครเป็นคนเซ็นจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งตนจะดำเนินคดีโดยยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หลายฝ่ายมองว่าเป็นดีลที่ท้ายที่สุด จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนกลับเข้ารับตำแหน่งเหมือนเดิม ที่จบเหมือนละครแฮปปี้ใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบเหมือนกัน แต่ตนเองเป็นคนที่ยึดตามหลักการแบบนี้มานานแล้ว เหมือนในอดีตที่ตนเคยฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่าตนยึดหลักยุติธรรม ซึ่งครั้งนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง รังแก ตัดแข้งตัดขา และสังคมก็เห็นได้ชัด
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย้อนถามกลับว่า ทำไมถึงไม่เพิกถอนคำสั่งออกจากข้าราชการเสียที ปล่อยให้ตนเป็น รอง ผบ.ตร. ลอยไปลอยมาแบบนี้ ตามหลักแล้วตนสามารถเข้าประชุม ก.ตร. ได้ แต่ไม่เลือกที่จะทำเพราะถือเป็นการให้เกียรติ พร้อมยืนยันว่าตนเองยังมีสถานะเป็น รอง ผบ.ตร.อยู่ หากตนเองได้กลับไป จะไปดูคำสั่งให้ออกจากราชการที่มีตำรวจถูกสั่งให้ออกราชการ 70-80 นาย ก่อนหน้านี้ว่าเป็นธรรมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าการส่งกลับมารอบนี้หวังว่าจะปรองดองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรใหญ่ จะปรองดองหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯ ซึ่งนายกฯ จะต้องเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ลอยตัว ถ้านายกฯ ไม่ตัดสินใจ องค์กรก็จะอยู่ไปแบบนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้นำ
ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ ออกมาแถลงแทนนายกฯ ในคำสั่งย้ายกลับ ผบ.ตร. จะถือเป็นการลอยตัวของนายกฯ หรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ นายกฯ จะต้องทำหน้าที่ ถ้าท่านไม่ลอยตัวและตัดสินใจทุกอย่างก็จะไม่เกิด ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้นำ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีรัฐมนตรีประจำกระทรวง ฉะนั้นนายกฯ ก็เปรียบเหมือนรัฐมนตรีประจำกระทรวง เมื่อมีปัญหาจะต้องลงมาแก้ และย้ำว่าจะต้องไม่ลอยตัว.-414-สำนักข่าวไทย