กทม. 22 พ.ค.-เปิดภาพห้องโดยสาร “สิงคโปร์แอร์ไลน์” หลังตกหลุมอากาศ ต้องลงจอดฉุกเฉินสนามบินสุวรรณภูมิ พบสิ่งของกระจัดกระจาย ท่ออากาศฉีกขาดตกจากเพดาน พบรอยเลือดหลายแห่ง เสียชีวิตบนเครื่อง 1 ราย บาดเจ็บ 71 ราย
มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ สภาพภายในเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 เส้นทางลอนดอน สนามบินฮีทโธรว์ ไปยังสิงคโปร์ สนามบินชางงี ที่ขอลงจอดฉุกเฉิน เนื่องจากเผชิญสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงระหว่างเส้นทาง ทำให้เครื่องตกหลุมอากาศจากความสูง 37,000 ฟิต ลงมา 31,000 ฟิต ประกอบกับในเที่ยวบินมีผู้โดยสารเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน นักบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ จึงประสานหอบังคับการบิน ขอเปลี่ยนเส้นทางมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร แทน เมื่อเวลา 15.45 น. เข้าจอดที่หลุม 306 และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ ภายในเครื่องบินจะเห็นสภาพความเสียหาย ทั้งสิ่งของกระจัดกระจายทั่วห้องโดยสาร ท่ออากาศที่มีสภาพฉีกขาด ตกห้อยจากเพดานด้านบนลงมาด้านล่าง หน้ากากออกซิเจนประจำที่นั่งผู้โดยสารหล่นลงมาจำนวนมาก นอกจากนี้บนเพดานหลายจุดยังพบคราบสีแดงคล้ายเลือด
ต่อมา นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) แถลงเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บนเครื่องบิน เป็นชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 73 ปี เบื้องต้นทราบว่าเป็นโรคหัวใจ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีผู้บาดเจ็บวิกฤติ 7 คน ส่วนใหญ่ศีรษะแตก และปวดบริเวณกล้ามเนื้อ ผู้บาดเจ็บปานกลาง 23 คน และลูกเรือ 1 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 16 คน ซึ่งมีผู้โดยสารเข้ามาพักรอภายในอาคารเทียบเครื่องบิน 30 คน โดยมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยและพร้อมเดินทาง โดยเครื่องบินจากชางงี เดินทางมาถึงไทย เวลาประมาณ 21.45-22.00 น.
ขณะเดียวกัน สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ลงข้อความประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Singapore Airlines กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมระบุว่า ทางสายการบินทำงานร่วมกับหน่วยงานของไทย เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือ ในด้านการแพทย์ และขณะนี้ทางสายการบินส่งเจ้าหน้าที่ไปยังประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมแล้ว โดยเครื่องบินลำดังกล่าวมีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือ 18 คน (รวม 229 คน)
ขณะที่ฝั่งของตำรวจ พล.ต.ต.ธนันท์ธร รัตนสิทธิภาคย์ ผบก.น.4 เดินทางมาดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยให้สัมภาษณ์เรื่องการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ หากเกิดในพื้นที่ กทม. จะต้องส่งชันสูตรที่สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ อย่างไรก็ตาม กรณีการพบผู้เสียชีวิตในประเทศไทย ย่อมต้องผ่าชันสูตรตามหลักกฎหมายไทยต่อไป ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ติดต่อประสานญาติของผู้เสียชีวิตแล้ว
ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้นำเอกสารมามอบให้แก่สื่อมวลชน เรื่อง การเกิดอุบัติภัยหมู่เครื่องบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ตกหลุมอากาศ โดยมีใจความว่า ก่อนอื่นทางโรงพยาบาลสมิติเวช ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ทั้งหมด 71 ราย โดยได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาของทางโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยแบ่งเป็น
1. ผู้ป่วยบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 26 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท 4 ราย
2. ผู้ป่วยบาดเจ็บอาการปานกลาง จำนวน 39 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท 4 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลกรุงเทพ 2 ราย
3. ผู้ป่วยบาดเจ็บอาการรุนแรง จำนวน 6 ราย
4. ไม่มีผู้เสียชีวิตที่ส่งตัวมา และไม่มีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล
สำหรับสัญชาติของผู้บาดเจ็บในเบื้องต้นที่ตรวจสอบได้ ได้แก่ มาเลเซีย 3 ราย สหราชอาณาจักร 3 ราย นิวซีแลนด์ 2 ราย อังกฤษ 1 ราย สเปน 1 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย และไอร์แลนด์ 1 ราย
เครื่องบินตกหลุมอากาศเกิดขึ้นตอนไหน
1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินบินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้
2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุสามารถคาดการณ์ได้ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
3. พายุ ฝนฟ้าคะนอง สาเหตุข้อนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้
ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ สำนักอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งเป็น 4 ระดับ
1. ความรุนแรงเล็กน้อย (Light) : ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด นั่งอยู่กับที่ ผู้โดยสารอาจจะไม่รู้สึกถึงการสั่น
2. ความรุนแรงปานกลาง (Moderate) : ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด อาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้จะรัดเข็มขัดแล้ว และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้
3. ความรุนแรงมาก (Severe) : สภาพปั่นป่วนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้
4. ความรุนแรงมากที่สุด (Extreme) : สภาพความปั่นป่วนระดับนี้พบน้อยมาก ตัวเครื่องบินถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน
วิธีป้องกันอันตรายขณะตกหลุมอากาศ
ผู้โดยสารและลูกเรือจะต้องนั่งประจำที่ รัดเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ มีสติและฟังคำแนะนำของพนักงานต้อนรับอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุที่ไม่คาดคิด.-สำนักข่าวไทย