กทม. 15 พ.ค.-เลขาธิการ ป.ป.ส. เผย ป.ป.ส. เป็นเพียงหน่วยปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย หากรัฐบาลแก้ไขครอบครองยาบ้า พร้อมปรับแผนในการปฏิบัติ ส่วนประเด็นกัญชาไม่มองว่าสุญญากาศ เพราะมีกฎหมายอื่นอยู่ หากดึงกลับเข้าบัญชียาเสพติด พร้อมกวดขันดำเนินคดี
กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งรื้อกฎกระทรวงแก้ปัญหาเรื่องการครอบครองยาบ้า 1 เม็ดให้มีความผิด หลังเกิดปัญหาการปฏิบัติงานและการตีความทางกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนในการจับผู้เสพ ผู้ค้า จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด แทนที่จะเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำตามได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) สื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะมียาเสพติดกี่เม็ดก็มีความผิดหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผู้เสพ ก็จะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังฝากถึงพนักงานสอบสวนทํางานให้หนักขึ้นเพื่อดูเจตนาอีกครั้งว่าเป็นผู้เสพ หรือผู้ค้า ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น
สำนักงาน ป.ป.ส. กรุงเทพมหานคร-15 พ.ค.67 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า เรื่องการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจากตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 107 วรรคสอง การกำหนดปริมาณยาเสพติดว่าเป็นปริมาณเล็กน้อย ให้ถือเป็นการครอบครองเพื่อเสพ เป็นอำนาจของ รมว.สธ. ที่จะต้องเป็นคนกำหนด แต่ ป.ป.ส. เป็นเพียงหน่วยปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าจำนวนยาเสพติดกี่เม็ดไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะในอดีตมีการมองว่าคนเสพยาเสพติดเป็นอาชญากร เราก็ดำเนินคดี แต่พอขึ้นสู่ชั้นศาล ถ้าครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 15 เม็ด ศาลจะถามจำเลยว่าสมัครใจเข้ารับการบำบัดหรือไม่ เพราะมี พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ ให้อำนาจผู้พิพากษาใช้ดุลยพินิจกรณีครอบครองยาบ้า 15 เม็ดให้ไปรับการบำบัด จึงหมายความว่าถูกดำเนินคดีแล้ว แต่พอประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีการบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้เน้นการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยให้เข้ารับการบำบัด จะกี่เม็ด ถ้าเป็นผู้เสพยาเสพติดแล้วสมัครใจเข้ารับการบำบัด ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการรายงานข่าวว่าผู้เสพยาเสพติดมีอาการภาพหลอนและทำร้ายร่างกายบุคคลรอบข้างนั้น ตนมองว่ากลุ่มคนเหล่านั้นไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มต้นเสพยาเสพติด แต่เขาเสพเป็นจำนวนปี อีกทั้งตนยังมองว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้มีความจริงจังและยังเรียกว่าเป็นการละเลยเพิกเฉยในมิติของการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัด เพราะว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดมันมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่การป้องกัน ปราบปราม หรือยึดทรัพย์สิน แต่ยังมีเรื่องการบำบัดด้วย หากไปมุ่งเน้นมิติอื่นๆ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องการบำบัดจึงเกิดข่าวรายวันว่ามีผู้เสพยาเสพติดในชุมชนไปก่อเหตุทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น ทั้งนี้ตนจะไม่บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกรณีกำหนดยาบ้า 1 เม็ดให้เป็นผู้เสพ แต่ว่า ป.ป.ส. เราเป็นหน่วยปฏิบัติ และเป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมาย หากรัฐบาลมีการแก้ไขเราก็ต้องไปปรับแผนในการปฏิบัติ แม้จะมีผลกระทบอะไรเราก็ต้องไปดำเนินการวางแผน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีหากมีการบังคับใช้กฎหมาย และกำหนดให้ครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเท่ากับผู้เสพ แล้วมีการจับกุมเกิดขึ้นปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวเคยมีพฤติการณ์ค้ายาเสพติดมาก่อน หากบุคคลนั้นเป็นผู้ค้า เจ้าหน้าที่ก็จะต้องพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา แต่ว่าจะต้องมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจนว่าเขามีพฤติกรรมการค้ายาเสพติด หรือมองในอีกมุมหนึ่งหากไม่มียาเสพติดเลยแต่พยานหลักฐานพบว่ามีการทำธุรกรรมการโอนเงิน มีเส้นทางการเงิน หรือว่าการประสานติดต่อทางโทรศัพท์เชื่อมโยงกันกับกลุ่มนักค้า แม้ไม่มียาบ้าสักเม็ดก็จะถูกจับฐานสมคบยาเสพติดได้
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ถ้ามีการกำหนดว่าการครอบครองยาบ้าหนึ่งเม็ดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพนั้น หากบุคคลดังกล่าวมีการครอบครองสองเม็ดขึ้นไป เราก็จะต้องจับกุมบุคคลนั้นฐานครอบครองยาเสพติดฯ ซึ่งการครอบครองยาบ้าก็มีอัตราโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี ทำให้บุคคลคนดังกล่าวก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล เข้าสู่การประกันตัว หากไม่มีเงินประกันตัวก็ต้องเข้าสู่เรือนจำฯ ต้องต่อสู้คดีจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลมีแนวทางเตรียมดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของนโยบาย อีกทั้งบอร์ด ป.ป.ส. ตนในฐานะเลขาฯ ต้องเรียนว่าเรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบอร์ด ป.ป.ส. ด้วย โดยหน้าที่ของบอร์ด ป.ป.ส. มีอำนาจพิจารณาตามที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กำหนด อย่างไรก็ตาม
“ตนยืนยันว่าตอนนี้กัญชาไม่ใช่สูญญากาศ ทุกวันนี้มีกฎหมายกำหนดอยู่ หากมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายอย่างไรจึงจะมีผลต่อการปฏิบัติ ส่วนตอนนี้การนำเข้าส่งออกกัญชา หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด อย่างไรก็ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่นำเข้ากัญชา หากมีการดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด กลุ่มผู้ประกอบการก็จะมีความผิดตามกฎหมาย แต่ต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน เราเป็นเพียงหน่วยงานปฏิบัติตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว.-419.-สำนักข่าวไทย