บช.สอท. 10 ก.ค. – ตร.ไซเบอร์ แถลงผลปฏิบัติการยุบวงจรหลอกลงทุนกลุ่มอมตะ แอบอ้างอาศัยความน่าเชื่อถือ แฝงตัวหลอกเทรดหุ้นปลอม พบผู้เสียหาย 185 คน สถิติรับแจ้งความออนไลน์ระหว่าง 1 มี.ค.65-30 มิ.ย.66 มีผู้ถูกหลอกลงทุนออนไลน์ 3,500 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แถลงผล “ปฏิบัติการยุบวงจรหลอกลงทุนกลุ่มอมตะ” ซึ่งมีเหยื่อถูกหลอกเข้าร่วมลงทุนเสียหายเข้าแจ้งความ 185 คน รวมมูลค่าความเสียหาย 25.9 ล้านบาท โดยมีผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น และตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายให้ข้อมูล โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า จากการสืบสวนคดีในระบบแจ้งความออนไลน์ พบความเชื่อมโยงกันจำนวนมาก ลักษณะเป็นเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มเทรดหุ้นของกลุ่มอมตะ โดยจะแอดไลน์ เข้ามาอ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ ใช้ชื่อไลน์แตกต่างกัน เช่น amata4978, amataservice7891, service worker, Amata2788 และ Inmot_88 เป็นต้น โดยมิจฉาชีพจะใช้รูปโฆษณาในเฟซบุ๊กชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนอมตะ โดยใช้ภาพคุณวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้ดูน่าเชื่อถือและหลงเชื่อว่ามีผลตอบแทนที่ดี แอดมินเพจมิจฉาชีพจึงมักใช้ช่องทางแอดไลน์พูดคุย เชิญชวนให้เปิดพอร์ตแบบระยะสั้น ให้ทำการโอนเงินเติมเข้าพอร์ตครั้งแรกจำนวนหลักพันก่อน และค่อยๆ ให้โอนเพิ่มเติมถึงหลักแสนบาท โดยในระหว่างนี้จะแสดงผลกำไรและแจ้งกลับมาให้ผู้เสียหายดีใจ ตื่นเต้น แต่เมื่อจะขอปิดบัญชี เพื่อเบิกเงินออกมา มิจฉาชีพจะแจ้งกลับมาว่า ต้องเสียภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นเงินหลักแสนอีก เมื่อผู้เสียหายไม่โอนเงิน มิจฉาชีพจะต่อว่า และตัดการติดต่อไป ซึ่งในระยะเวลาไม่นานมีการหลอกลวงผู้เสียหายไปหลายราย
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน พบผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหลายราย จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับ และขยายผลจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 9 คน ซึ่งมีความเชื่อมโยงในการทำผิดรูปแบบเดียวกันหลายคดี ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งติดตามตัว และเร่งขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดต่อไป ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมขยายผลต่อเนื่อง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มิจฉาชีพจะเปิดเพจหลอกลวง 30-40 เพจ ปิด ๆ เปิด ๆ เพจ และจะเปลี่ยนชื่อเมื่อถูกจับได้
ด้านนายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ตัวแทนผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อหากเพจปลอมทักไปแอบอ้าง ซึ่งหากเป็นบริษัทจริงจะต้องซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น หากจะซื้อหุ้นควรซื้อกับโบรกเกอร์ที่ถูกต้อง ขอทุกท่านศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนการลงทุน ซึ่งหลายคนที่ถูกหลอกพบว่าเป็นเงินก้อนที่เก็บสะสมมา อย่าหลงเชื่อการทักเข้ามาคุยชวนลงทุน แอบอ้างโดยใช้ภาพต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มั่นใจสามารถโทรเข้ามาสอบถามที่บริษัท ซึ่งมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยตรง หรือดูที่เว็บไซต์ทางการของบริษัทเท่านั้น
หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า ถูกหลอกเสียหายไปหลายแสนบาท โดยถูกหลอกผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอม ที่ทำทีแชทมาชวนลงทุน บอกว่าเป็นหุ้นใหม่ ตนเห็นว่าบริษัทใหญ่น่าเชื่อถือ และอ้างลงทุนเริ่มแรกเพียง 1,000 บาท อ้างเป็นการลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนดี จึงหลงเชื่อและลงทุนไปเรื่อย จากยอดหลักพันถึงแสน ถูกหลอกให้ต้องโอนต่อไปเรื่อย ๆ อ้างว่าจนกว่าจะถึงยอดที่กำหนดถึงจะถอนได้ ยอมรับว่าที่หลงเชื่อตอนแรกเพราะคิดว่าจะเป็นหุ้นใหม่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอมตะ และปกติตนก็เทรดหุ้นอยู่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่า มิจฉาชีพที่มาหลอกลวงก็ดูเอาคนที่มีความรู้ พูดคุยภาษาหุ้น ตนจึงยิ่งหลงเชื่อ
ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เผยสถิติรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 1 มี.ค.65 – 30 มิ.ย.66 มีผู้เสียหายที่แจ้งความถูกหลอกลงทุนออนไลน์ จำนวน 3,500 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมิจฉาชีพเมื่อหลอกเงินได้ ผ่านบัญชีม้าหลายบัญชี และจะนำเงินโยกย้ายออกต่างประเทศทันที ทั้งในรูปคริปโทเคอร์เรนซี ทำให้ยากต่อการติดตามกลับคืน ซึ่งมีบริษัทใหญ่อีกหลายแห่งที่ถูกแอบอ้างไป มีจุดสังเกต เช่น บริษัทจริงต้องมีเบอร์โทร ที่อยู่ที่ถูกต้อง ติดต่อบริษัทได้จริง หรือที่เพจทางการจริงก็จะเครื่องหมาย verify ยืนยันว่าเป็นบริษัทจริง เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย