กรุงเทพฯ 25 พ.ค.- ผบ.ตร. แถลงจับเครื่อง “ปลากระเบน” อุปกรณ์พิเศษแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สร้างอวตารส่ง SMS แนบลิงก์ หลอกเหยื่อโอนเงิน เชื่อเป็นการจับได้ครั้งแรก เบื้องต้นพบผู้เสียกว่า 20 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงความคืบหน้าขบวนการส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงินเพื่อหลอกดูดเงินผู้เสียหาย
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อจากขบวนการส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นธนาคาร หลอกดูดเงินผู้เสียหาย ซึ่งขบวนการดังกล่าวกําลังแพร่ระบาดพบข้อมูลระบบการรับแจ้งความออนไลน์ห้วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 มีการแจ้งความออนไลน์รวมค่าความเสียหาย 175,159,482 บาท จึงเร่งรัดสืบสวนจับกุม
กระทั่งพบว่าคนร้ายจะกระทําโดยนําเครื่องจําลองสถานีฐาน (False Base Station) หรือที่ตำรวจไซเบอร์เรียกว่าเครื่อง “ปลากระเบน” ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหากรถแล่นผ่านไปทางใดก็จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่ง SMS แนบลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้าฯ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ อุปกรณ์ดังกล่าวถูกใช้บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านและส่งสัญญาณในประเทศไทย ทำให้ไทยใช้มาตรการควบคุมสัญญาณให้อยู่ในรัศมีวงจำกัด มิจฉาชีพจึงต้องนำเข้าเครื่องดังกล่าวเข้ามาในประเทศโดยตรงแทน หากประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ดังกล่าวก็จะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล โดยสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking
เบื้องต้นตำรวจสามารถจับกุมนายสุขสันต์ อายุ 40 ปี กับพวก รวม 6 คน ขณะที่รถกําลังแล่นออกไปเพื่อส่งสัญญาณ ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่อง “ปลากระเบน” ได้จำนวน 5 เครื่อง สอบสวนผู้ต้องหาสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การรับว่าได้รับการติดต่อว่าจ้างจากคนรู้จักที่ทํางานอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะได้ค่าจ้างสําหรับการวิ่งส่งสัญญาณเดือนละ 80,000 บาท ซึ่งเครื่องดังกล่าวนั้นสามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้วันละ 20,000 หมายเลขต่อเครื่อง โดยรับเข้ามา 4-5 เครื่อง ซึ่งตนกับพวกไม่มีความรู้เชิงลึกในการใช้อุปกรณ์ มีหน้าที่เพียงกดเปิดเชื่อมต่อสัญญาน ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่เป็นการใช้วิธีดักสัญญาณจากเสาจริง
พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผบช.สอท. เปิดเผยว่า เครื่อง “ปลากระเบน” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลอมเสาสัญญาณและส่ง SMS ให้ผู้เสียหาย ปกติจะถูกใช้กรณีเกิดภัยพิบัติที่สัญญาณมือถือไม่สามารถใช้การได้ และไว้เป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้ประสบภัย หรือใช้ในหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา หรือหน่วยใต้ดิน ในการดักรับข้อมูล เนื่องจากเป็นเสาสัญญาณที่มีขนาดเล็กสามารถหลอกให้มือถือในพื้นที่มาเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณดังกล่าวได้ อีกทั้งสามารถตั้งค่าชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ได้ โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา FBI ประสานตำรวจ บช.สอท.ให้สืบสวนหลังมีข้อมูลว่าอุปกรณ์ชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และยังพบว่าถูกใช้ในการส่งลิงก์เว็บไซต์พนันออนไลน์ด้วย
พล.ต.ต.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากนี้จะต้องส่งหนังสือสอบถามไปที่หน่วยงานทหารว่า อุปกรณ์นี้ถูกใช้ในกิจการทหาร หรือเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารหรือไม่ หากเป็นก็จะมีการแจ้งข้อหาผู้ต้องหาเพิ่ม
ด้านไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการรักษาราชการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีกฎหมายห้ามนำเข้า บุคคลทั่วไปไม่อนุญาตให้ใช้ ไม่ว่ากรณีใดๆ พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทำทางเครือข่ายจะไม่ทราบว่ามีการส่ง SMS ออกเนื่องจาก SMS เหล่านี้ไม่ได้ผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายโดยตรง แต่เป็นการส่งออกจากเสาปลอม
พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นกลุ่มผู้ต้องหาจะมีเพิ่มจากนี้หรือไม่อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อ โดยฐานข้อมูลหลักของกลุ่มนี้อยู่ที่ต่างประเทศ เข้ามาปฏิบัติการเฉพาะอุปกรณ์ ซึ่งมีมูลค่าหลักล้านบาทต่อเครื่อง
เบื้องต้นแจ้งข้อหา ‘ร่วมกันทํา มี ใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตาม มาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันใช้คลื่น ความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการ โทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม, เป็นอั้งยี่ หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา’
ด้านนางสาวพิชชาอร (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ผู้เสียหาย เปิดเผยถึงพฤติการณ์ของแก๊งมิจฉาชีพว่า ขณะที่ตนเองนั่งทำงานอยู่ได้มี SMS ส่งมาหาตนเอง ระบุว่า “บัญชีของคุณกำลังมีผู้พยายามทำธุรกรรม” ซึ่งก็มีการแนบลิงก์มาใน SMS ตนเองได้กดไปที่ลิงก์ดังกล่าว และระบบได้ระบุให้เพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และเปลี่ยนชื่อลิงก์เป็น K Connect
จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ทักมาสอบถามชื่อ และข้อมูลการใช้งานของตนว่าทำธุรกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่หรือไม่ โดยตนเองปฏิเสธและระบุว่าตนเองอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นทางกลุ่มมิจฉาชีพแจ้งข้อมูลว่ามีผู้พยายามทำธุรกรรมกับบัญชีของตนผ่านจีเมล ซึ่งข้อมูลทุกอย่างที่แจ้งถูกต้องทั้งหมด รวมทั้งยังทราบด้วยว่าตนเองมีบัญชีเงินฝากทั้งหมด 4 บัญชี
จากนั้นก็ยังให้กดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “เค ซีเคียวริตี้” มิจฉาชีพหลอกว่า แอปฯ นี้จะสามารถตรวจสอบต้นตอได้ว่าบุคคลใดกำลังเข้าระบบบัญชีของตนเองอยู่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วการกดเข้าไปคือการรีโมทโทรศัพท์ของตนเอง และหลังจากนั้นจะไม่สามารถทำอะไรกับโทรศัพท์ได้ ลักษณะคล้ายโทรศัพท์กำลังอัปเดตอยู่โดยขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ และเมื่อโทรศัพท์อัปเดตเสร็จสิ้น ก็พบว่าเงินถูกโอนออกไปแล้วจากทั้งหมด 4 บัญชี เป็นจำนวนกว่า 300,000 บาท และจากบัญชีบัตรเครดิตที่มิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ และเข้าไปเปลี่ยนวงเงินเป็นเงินสดอีกราว 80,000 บาท รวมทั้งหมดเสียหายรวม้กือบ 400,000 บาท ซึ่งรวมเวลาที่แก๊งมิจฉาชีพใช้ในการหลอกทำธุรกรรมอยู่ที่ราว 30-35 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าวตำรวจไซเบอร์ทดลองส่งข้อความจากเครื่อง “ปลากระเบน” ที่ตรวจยึดได้ไปหาสื่อมวลชนและผู้ที่มาร่วมงานแถลงข่าว โดยส่งข้อความว่า “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน ด้วยความห่วงใยจากตำรวจไซเบอร์” ปรากฏว่าเครื่องดังกล่าวสามารถส่งข้อความเข้ายังมือถือได้ในเวลาอันรวดเร็ว และพบว่าระหว่างที่ส่งสัญญาณจะทำให้เครือข่าย สัญญาณมือถือที่ใช้ปกติโหลดลง และเมื่อได้รับข้อความแล้วสัญญาณเครือข่ายของมือถือจึงกลับเป็นปกติ.-สำนักข่าวไทย