24 มี.ค. – เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่ 8 ในคดี “ธาริต-พวก” ผิดมาตรา 157 แจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งฆ่าประชาชน เป็นวันที่ 16 มิ.ย.นี้ หลัง “ธาริต” กลับคำรับสารภาพ
เมื่อ 10.00 น. วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง” กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
จำเลยทั้งสี่ ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ.66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง แต่นายธาริต มอบหมายให้ทนายความ ยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้า รพ.ผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริต เพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา ต่อมาวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา นายธาริตได้เดินทางมามอบตัวต่อศาล พร้อมยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานเป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้พิจารณาแล้วตั้งหลักทรัพย์ประกัน 800,000 บาท
โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์ จำเลยที่ 1-4 ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล
ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมาย ที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26,27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566
จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1
ทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อมีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็น สาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกาจึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ
แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1-2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง
โดยทนายโจทก์ที่ 2 แถลงเพิ่มเติมว่า เคยรับหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1166/2558 ของศาลนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูงหลายครั้งในลักษณะทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งเรียกคืนสำนวนและของคำพิพากษาทั้งหมดจากศาลชั้นต้นและดำเนินการอ่านคำพิพากษาเองที่ศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ เช่นเดียวกับในคดีดังกล่าวด้วย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การส่งคำโต้แย้งของคู่ความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น ศาลที่มีอำนาจส่งคำโต้แย้งของคู่ความดังกล่าวต้องเป็น ศาลที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งคู่ความโต้แย้งบังคับแก่คดี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำร้องดังกล่าว ประกอบกับ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคำรับสารภาพประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีในการลงโทษ จำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาไปในวันนี้ได้ จึงให้ส่งสำนวน พร้อมคำร้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 และซองคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 16 มิ.ย.2566 เวลา 9.00 น. -สำนักข่าวไทย