13 มี.ค. – ตำรวจสืบสวนนครบาลจับหนุ่มเซียนพระ หลอกเหยื่อเช่าพระเครื่องผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก เสียหายกว่า 5 ล้านบาท สารภาพทำเพราะติดพนัน ก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 มีเหยื่อหลงเชื่อประมาณ 20 ราย
ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี PCT ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โดยชุดลาดตระเวนออนไลน์ บก.สส.บช.น. ได้ออกลาดตระเวนออนไลน์จนเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่เคยถูกคนร้ายชื่อเซียนฟลุ๊ค ซึ่งมีพฤติการณ์ก่อเหตุสร้างเฟซบุ๊กชื่อบัญชีต่างๆ เข้าไปโพสต์หลอกเช่าบูชาพระเครื่องในกลุ่มต่างๆ กว่า 50 กลุ่ม พื้นที่อีสานตอนใต้ โดยโพสต์ประกาศเช่าบูชาพระเครื่อง ส่งพระชื่อบัญชี “ชรัณ มุกธวัตร” และชื่อบัญชี “Charun”, ชื่อบัญชี “Pat Pat”, ชื่อบัญชี “Pattara”, ชื่อบัญชี “Watpa” ก่อเหตุต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2560 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2566 ตำรวจได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัวนายภัทระ หรือฟลุ๊ค ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงธนบุรี ที่ จ.356/2565 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ได้ที่บริเวณหน้าบ้านไม่ทราบเลขที่ ภายในซอยวัดร่าง บ้านกุดแห่ ถ.ชยางกูร ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นบ้านที่ผู้ต้องหาหลบมาพักอาศัย
ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าตนเรียนจนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เริ่มก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 โดยขณะนั้นอายุประมาณ 19 ปี ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องใหม่สายภาคอีสานใต้ เคยมีเฟซบุ๊กสำหรับโพสต์ประกาศเช่าบูชาพระเครื่อง ส่งพระให้ลูกค้าจริง มีเครดิต มีคนติดตาม มีรายได้จากการปล่อยเช่าบูชาพระเครื่อง 100,000-200,000 บาท/เดือน แต่เนื่องจากติดเล่นเสียการพนันทำให้ไม่สามารถมีเงินมาหมุนทำการเช่าซื้อขายพระได้ จึงใช้เครดิตการเช่าซื้อขายพระที่ตนพอมีชื่อเสียงหลอกเช่าบูชาพระเครื่องกับลูกค้าที่สนใจในกลุ่มเฟซบุ๊ก เมื่อมีลูกค้าเริ่มทราบข่าวว่าถูกโกง ตนจะเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊ก ทั้งนี้ ช่วงใดที่เล่นพนันจนมีเงินก้อนพอใช้ก็จะหยุดโกงเพื่อให้เรื่องซา และกลับมาทำใหม่อีกเช่นเดิมวนไป
ที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยมีผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเดือนละประมาณ 20 ราย มีรายได้จากผู้เสียหายที่หลงเชื่อรายละ 5,000-400,000 บาท ก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2560 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5,000,000 บาท เงินที่ได้จากการก่อเหตุรับว่านำไปใช้จ่ายในชีวิตและเล่นพนัน จากการตรวจสอบพบมีข้อมูลประวัติคดีในฐานข้อมูล จำนวน 9 คดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป. -สำนักข่าวไทย