กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – “นอท” เจ้าของกองสลากพลัส งัดสำเนาเช็ค ยืนยันที่มาเงินกว่า 50 ล้านบาท เป็นเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปฏิเสธฟอกเงินให้ธุรกิจสีเทา ชี้ แพลตฟอร์ม “กระเป๋าตังค์” ก็เก็บเงิน 1% จากผู้ที่ถูกรางวัล
นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ “นอท” เจ้าของกองสลากพลัส และนายกสมาคมผู้ค้าสลากออนไลน์ เปิดสำนักงานแถลงโชว์หลักฐานสำเนาเช็ค 2 ฉบับ เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ที่กำลังถูกตรวจสอบเนื่องจากเป็นเงินที่โอนเข้ามาจากผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน โดยยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในธุรกิจสีเทา หลังพนักงานสอบสวนศูนย์คดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เรียกให้ปากคำในฐานะพยาน ยืนยันเงิน 2 รายการ แบ่งเป็นรายการแรกกว่า 42 ล้านบาท และรายการที่ 2 กว่า 11 ล้านบาท ที่มีการโอนเขาบัญชีส่วนตัวของตน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นเงินที่นำลอตเตอรี่จากลูกค้าที่ถูกรางวัลไปขึ้นเงินรางวัลกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีนาย อ. บุคคลที่ตนกำลังเจราจาขอกู้เงินเพื่อมาลงทุน เป็นผู้รับมอบอำนาจจากตนเพื่อไปขึ้นเงิน เนื่องจาก นาย อ. ต้องการความมั่นใจก่อนให้กู้เงิน และทราบขั้นตอนการขึ้นเงิน ซึ่งกองสลากฯ ได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ หลังจากนั้นนาย อ.ได้โอนเงินเข้าบัญชีตน จึงเป็นที่มาของการถูกตรวจสอบ
“ยอมรับเป็นความโง่ และความผิดพลาดที่ไม่ตรวจสอบประวัตินาย อ. ให้ดีเสียก่อน ซึ่งนาย อ.เป็นบุคคลธรรมดาและไม่ใช่คนมีสี ส่วนคดีที่นาย อ.ถูกดำเนินคดีเกิดขึ้นหลังจากที่ไปขึ้นเงินที่กองสลากฯ โดยนาย อ.ถูกจับเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2565 ปัจจุบันไม่ได้คุยธุรกิจกันแล้ว เพราะตนต้องการแค่เงินกู้ แต่นาย อ. ต้องการเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ทั้งนี้ เคยเจอกันแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ได้พบกันอีก จึงไม่ขอพูดในรายระเอียดของ นาย อ.ว่าเป็นใครและถูกดำเนินคดีอย่างไร”
นายพันธ์ธวัช กล่าวต่อว่า วันนี้ไปให้ปากคำในฐานะพยาน ซึ่งพนักงานสอบสวนยังขอให้ตนนำหลักฐานที่มาของเงินอีก 39 รายการ รวมประมาณ 1 พันล้านบาท ให้ตรวจสอบ โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ เบื้องตนยืนยันเป็นเงินหมุนเวียนที่ได้จากการค้าสลากออนไลน์ ไม่ใช่เงินไม่ถูกต้อง พร้อมระบุตนเป็นเจ้าของสลากพลัสแต่เพียงผู้เดียว ถือหุ้นร้อยละ 94 ส่วนอีก 6% เป็นพนักงานที่ร่วมทำงานกันมาตั้งแต่ก่อตั้งแพลตฟอร์ม จึงได้หุ้นเป็นผลตอบแทน และปัจจุบันตนก็เป็นหนี้นับพันล้านบาท
สำหรับคดีที่ถูกตำรวจ ปคบ.แจ้งข้อหาความผิด พ.ร.บ.ขายตรง และการตลาดแบบตรง เป็นคดีล่าสุดที่ถูกดำเนินคดีนั้น หลังจากนี้จะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ยืนยันว่าไม่ได้จำหน่ายสลากเกินราคา แต่มีค่าดำเนินการที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการซื้อสลากออนไลน์ เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มกระเป๋าตังค์ของรัฐ ที่เรียกเก็บเงิน 1% เมื่อผู้ที่ถูกรางวัลนำสลากไปขึ้นเงิน
“นอท” ยังระบุว่า หลังเป็นข่าวยิ่งทำให้สลากงวดวันที่ 17 ม.ค.66 ซึ่งลงขายจำนวน 10 ล้านใบ ขายดีและแทบจะไม่พอขาย แต่เหตุที่ขายล่าช้า 3 วัน ชี้แจงว่าเนื่องจากสลากมาแพง ใบละ 99.50 บาท จึงรออยู่ 3 วัน ให้ราคาสลากผ่อนลง จึงเริ่มซื้อมาขาย ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ใช่สายมู จึงไม่เชื่อเรื่องดวงในกรณีที่ถูกตตรวจสอบ และการดำเนินคดีเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่ต้นปี 2566. -สำนักข่าวไทย