กรุงเทพฯ 29 ส.ค. – ศาลเลื่อนฟังคำสั่ง “ชำนาญ” ฟ้องอดีต ปธ.ศาลฎีกา ออกคำสั่งไม่ได้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส หลังเจ้าตัวยื่นฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ชี้ข้อกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ก.ต. การกระทำขัดข้อกฎหมาย นัดอีกที 17 ต.ค.ให้โจทก์เเก้ฟ้อง พร้อมออกหมายเรียกเอกสารจาก สนง.ศาลยุติธรรม
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 65 ที่ห้องพิจารณาคดี 402 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องในคดีที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตประธานศาลฎีกา กรณีมีคำสั่งให้พ้นจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
โดยในวันนี้นายชำนาญ เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตนเอง โดยกล่าวก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า คดีนี้ถือเป็นคดีสำคัญที่มีผลต่อระบบการแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโสของข้าราชการตุลาการที่มีอายุครบ 65 ปี และการพ้นจากราชการของผู้พิพากษา ที่กฎหมายบัญญัติให้ข้าราชการตุลาการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 70 ปีบริบูรณ์ ว่า การที่ ก.ต.มีมติไม่เห็นชอบให้ผู้พิพากษาที่อายุ 65 ปีบริบูรณ์ ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส และให้พ้นจากราชการ โดยที่ไม่ปรากฏว่าผู้นั้นถูกลงโทษให้ออกหรือไล่ออกจากราชการ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโสและการพ้นจากตำแหน่ง มาตรา 6/1บัญญัติว่า
“ข้าราชการตุลาการ ซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสจนกว่าจะพ้นจากราชการตามมาตรา 8/1แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543”
ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ข้าราชการตุลาการที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เมื่อสิ้นปีงบประมาณนั้น และบังคับให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จนกว่าจะพ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 70ปี บริบูรณ์ ตามมาตรา 8/1 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 โดยมาตรา 6/1มิได้ให้อำนาจ ก.ต. ในการให้ความเห็นชอบว่าข้าราชการตุลาการที่อายุครบ 65 ปี ผู้ใดเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์เพียงแต่ไม่ให้ผู้พิพากษาที่อายุกว่า 65 ปี ไปดำรงตำแหน่งด้านการบริหาร จึงให้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสจนกว่าจะมีอายุครบ 70ปี ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2560ว่า “โดยที่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ65ปีบริบูรณ์ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ดำรงตำแหน่งด้านบริหารจนกว่าจะพ้นจากราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ดังนั้น จึงเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งจากตำแหน่งบริหารมาเป็นตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส แต่ยังคงเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 70ปี มาตรา 6/1จึงไม่ให้อำนาจ ก.ต. ต้องให้ความเห็นชอบว่าข้าราชการตุลาการผู้นั้นเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ เพราะหาก ก.ต. ไม่ให้ความเห็นชอบผู้พิพากษาที่มีอายุ 65 ปี คนใดไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส และให้พ้นจากราชการ ย่อมเป็นการขัดต่อกฎหมายที่ให้ผู้พิพากษาเกษียณราชการเมื่ออายุ 70 ปีบริบูรณ์
ส่วนหากปรากฏว่าผู้พิพากษาที่อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ คนใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการทางวินัยซึ่งเป็นคนละส่วนกับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส เมื่อมาตรา 6/1บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งสำหรับผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 65ปี บริบูรณ์ แล้วว่า เป็นบทบังคับ “ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสจนกว่าจะพ้นจากราชการตามมาตรา 8/1 แห่ง พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543” ทั้งการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 6/1เป็นการ พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เพื่อไปดำรง ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสตามบทบังคับของกฎหมาย
ดังนั้น การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 6/1จึง “มิใช่ การพ้นจากตำแหน่งซึ่งมีผลเป็นการให้พ้นจากราชการตามมาตรา 32แห่งพรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ดังนั้น การที่ไม่ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส จากนั้นให้ผู้พิพากษาพ้นจากราชการ โดยไม่ถูกลงโทษให้ออกหรือไล่ออกหรือพ้นจากราชการตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 จึงเป็นการให้ผู้พิพากษาพ้นจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (Judicial Independence) เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักเกณฑ์ในการดำรงตำแหน่งที่มั่นคง การแต่งตั้งโยกย้ายและให้ผู้พิพากษาพ้นจากราชการจึงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่อาจกระทำตามอำเภอใจได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างเป็นอิสระ ไม่หวั่นเกรงว่าจะถูกโยกย้ายหรือให้พ้นจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาหลายท่านที่ ก.ต.ไม่เห็นชอบให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส และให้พ้นจากราชการ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีสำคัญสำหรับวงการตุลาการในการที่ศาลจะวินิจฉัยว่า ก.ต.มีอำนาจไม่ให้ผู้พิพากษาที่อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ และกรณีที่ไม่เห็นชอบให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสจะมีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นพ้นจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญ โดยที่ยังไม่เกษียณอายุและไม่ได้ถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกได้หรือไม่ เรื่องนี้จึงมิใช่เป็นเพียงเรื่องเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้หรือไม่
ศาลออกนั่งพิจารณาตรวจฟ้องแล้ว เห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องมีข้อความตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 158 มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดี ทุจริตและประพฤติมิชอบ และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง
แต่ฟ้องของโจทก์ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวน พิจารณาต่อไปได้อันเป็นฟ้องไม่ถูกต้อง ศาลต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธี พิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559มาตรา 15 วรรคสาม ก่อนที่จะดำเนินกระบวน พิจารณาจึงมี คำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง ภายใน 30วันนับแต่วันนี้
โดยบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้ง ให้โจทก์ บรรยายฟ้องชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่ามีหลักฐานใดสนับสนุนหรือแสดงให้เห็นถึงการกระทำและ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลย เพื่อให้ศาลใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและรวบรวม พยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะพิจารณาคดีต่อไปได้ พร้อมให้โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารที่ เกี่ยวข้อง (ถ้าหากมี) ต่อศาล
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี อาศัยอำนาจตามข้อบังคับของประธาน ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 16 วรรคหนึ่ง ให้มีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ชี้แจ้งข้อมูลและจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาล ดังต่อไปนี้ 1.การแต่งตั้งข้าราชการตุลาการให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ก.ต.ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ประวัติและผลงานการปฏิบัติราชการและ พฤติกรรมทางจริยธรรมเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสหรือไม่ อย่างไร และเป็นไปตาม กฎหมาย กฎ ระเบียบใดหรือไม่ อย่างไร
2.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ประธานศาลฎีกาออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่1132/2562 หรือไม่ อย่างไร หากมี ประธานศาลฎีกามีหน้าที่ออกคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ และเป็นไป ตามมติ ก.ต.ในการประชุมครั้งที่ 8-9/2562 ที่เห็นชอบแต่งตั้งให้นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ อย่างไร และเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบใดหรือไม่ อย่างไร
3.เหตุใด ก.ต.จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 16/2562 ให้นำมติ ก.ต.ครั้งที่ 8-9/2562เห็นชอบแต่งตั้งนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กลับมาทบทวน และการทบทวนมติดังกล่าว อาศัยอำนาจตามกฎหมาย กฎ ระเบียบใด และมติ ก.ต.ครั้งที่ 17/2562 ที่เห็นชอบให้นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ พ้นจากราชการเพื่อรับบำเหน็จ บำนาญเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบใดหรือไม่ อย่างไร
4.ประธานศาลฎีกาออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 1531/2562 เรื่อง ให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ อย่างไร หากมี ประธานศาลฎีกามีหน้าที่ออกคำสั่งดังกล่าว หรือไม่ และคำสั่งนั้นเป็นไปตามมติของ ก.ต.หรือไม่ อย่างไร
5.ให้จัดส่งพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น (ถ้าหากมี) ต่อศาล โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชี้แจงข้อมูลและจัดส่ง เอกสารต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์แถลงว่าประสงค์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเป็นหนังสือตามคำสั่งศาล ภายในเวลาที่ศาลกําหนดพิเคราะห์แล้ว กรณีมีเหตุจำเป็น จึงให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 17 ต.ค.65 เวลา 13.30 น.-สำนักข่าวไทย