แฟลชนำร่องกรีนลอจีสติกส์ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าส่งของ

กรุงเทพฯ 30 ก.ย. แฟลช เอ็กซ์เพรสตั้งเป้าเป็นกรีนลอจีสติกส์ ใช้ มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า รับ-ส่งพัสดุ  นางจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ พาร์ทเนอร์กลุ่มธุรกิจ แฟลช ผู้ให้บริการไฮเทคในการขนส่งพัสดุสัญชาติไทยแบบครบวงจรกล่าวว่า นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ และเคยสร้างปัญหากระทบกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และประชาชนในหลายพื้นที่มาแล้ว แฟลช เอ็กซ์เพรส กำหนดนโยบายลดมลภาวะและฝุ่นบนท้องถนน ด้วยการเป็น “Green Logistics” หรือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเปิดตัวโครงการ “Flash Power Swap Station by AP Honda” นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาทดสอบวิ่งรับ-ส่งพัสดุภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลมาศึกษา วิเคราะห์ เพื่อนำไปพัฒนาให้เหมาะสมแก่ภาคธุรกิจขนส่งก่อนก้าวไปสู่การใช้งานจริงต่อไป โครงการดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือของ 3 บริษัท ทั้งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ,บริษัทเอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และแฟลช เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่นำร่องการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการใช้พลังงานที่ลดน้อยลง โดยสิ่งนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจขนส่งด้านการใช้พลังงานให้สามารถลดลงได้มากกว่าร้อยละ 50-สำนักข่าวไทย.

ดีแทคจับมือดีป้ากองทุนพัฒนาสื่อฯทำหลักสูตรเคารพความหลากหลายทางเพศ

กรุงเทพฯ 30 ก.ย. ดีแทคเซฟอินเทอรเน็ต และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จับมือ “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” พัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying) นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา ดีแทคและองค์การแพลนได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย จากนั้น จะพัฒนาเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้านี้ ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้ ความพยายามทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมูลนิธิกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อลเชิงประจักษ์ว่า […]

กสทช.ให้สิทธิใช้ดาวเทียม 5 หน่วยงาน

กรุงเทพฯ 30 ก.ย. กสทช. ให้การอนุญาตสิทธิ 5 หน่วยงานเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมครั้งแรกของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) โดยพลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธานกสทช.) เป็นประธานในพิธีมอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งการมอบหลักฐานการอนุญาตในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมโดยระบบการอนุญาต(License) จากเดิมที่เป็นระบบสัมปทาน ซึ่งการอนุญาตสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่19 กุมภาพันธ์ 2563 การมอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในครั้งนี้ แบ่งเป็นหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์ จำนวน 1 หน่วยงาน (1 ข่ายดาวเทียม) และหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น จำนวน 5 หน่วยงาน (6 ข่ายงานดาวเทียม) ทั้งนี้ ข่ายงานดาวเทียมที่ได้รับอนุญาตสิทธิในครั้งนี้เป็นข่ายดาวเทียมประเภทวงโคจรดาวเทียมไม่ประจำที่ (NGSO) ซึ่ง 5 หน่วยงานที่ได้รับการอนุญาต คือ  กองทัพอากาศ โดยกรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม NAPA-2  (NGSO) และข่ายงานดาวเทียม RTAFSAT (NGSO), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS2 (NGSO) และสิทธิขั้นสมบูรณ์ สำหรับข่ายงานดาวเทียม THEOS (NGSO) , สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่าวงานดาวเทียม JAISAT-1 (NGSO) ,โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม BCCSAT-1 (NGSO)และ กองทัพอากาศ โดยโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นผู้รับอนุญาตสิทธิขั้นต้น สำหรับข่ายงานดาวเทียม THAIIOT (NGSO)  ทั้งนี้ ระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมดังกล่าวข้างต้นจะแบ่งตามประเภทสิทธิที่ได้รับการอนุญาต กล่าวคือ สิทธิขั้นสมบรูณ์จะมีระยะเวลาการอนุญาต15 ปี นับแต่วันที่ได้รับสิทธิ สำหรับสิทธิขั้นต้นจะมีระยะเวลาการอนุญาตนับแต่วันที่ได้รับสิทธิไปจนถึงวันที่จะได้รับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นสมบูรณ์

ไทยหารือความปลอดภัยไซเบอร์สิงคโปร์สร้างความเข้มแข็งรับมือภัยคุกคาม

กรุงเทพฯ 30 ก.ย. ดีอีเอสหารือทวิภาคีไทย–สิงคโปร์เพิ่มความเข้มแข็งความปลอดภัยไซเบอร์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (29 ก.ย. 63) ได้มีการประชุมหารือทวิภาคีกับนายเอส อิสวารัน (H.E. Mr. S. Iswaran) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการก่อนการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : The 5th AMCC) และงาน The 5th Singapore International Cyber Week (SICW) ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ตุลาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา (โควิด -19) ทำให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคผ่านการปกป้อง โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมทั้งแนวทางการจัดทำแผนงานด้านบรรทัดฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค “จากการประชุมหารือครั้งนี้ ไทยและสิงคโปร์ได้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาการ และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นทิศทางการดำเนินงานเพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือในอนาคตต่อไป” นายพุทธิพงษ์กล่าว นอกจากนี้ รมว.ดีอีเอส ได้ผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับ กระทรวงสื่อสารและสารสนเทศ (กระทรวงไอซีที) ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมและต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน ในโอกาสนี้ รมว.ไอซีที ของสิงคโปร์ กล่าวเรียนเชิญรมว.ดีอีเอส เข้าร่วมการประชุม The 5th AMCC และงาน SICW ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 ด้วย -สำนักข่าวไทย.

บุ๊กกิ้งดอทคอมเผยคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้น

กรุงเทพฯ 29 ก.ย. บุ๊กกิ้งดอทคอมเผย คนไทยเลือกเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้นแม้จะเป็นหน้าฝนท นางสาวมิเชล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง บุ๊กกิ้งดอทคอม เว็บไซต์จองที่พักยอดนิยม กล่าวว่าในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงนี้แผนการท่องเที่ยวและการให้ความสำคัญของผู้คนได้เปลี่ยนไป ข้อมูลการเดินทางของคนไทยในฤดูฝนปี 2563 ทำให้เห็นว่าความสุขจากการเดินทางไม่ได้วัดได้จากหน่วยกิโลเมตรหรือระยะทางและยังมีสิ่งใหม่ให้เราค้นพบอยู่เสมอใกล้บ้าน ข้อมูลจาก Booking.com ระบุว่าแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี 2563 นักท่องเที่ยวได้ออกไปท่องเที่ยวใกล้บ้าน เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ ในจุดหมายปลายทางใหม่ ที่ไม่เคยได้สำรวจ หรือกลับออกไปท่องเที่ยวในสถานที่แห่งความทรงจำใกล้บ้านอีกครั้ง  เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบการเดินทางในช่วงฤดูฝนพบว่าระยะทางโดยเฉลี่ยที่คนไทยออกเดินทางระหว่างช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคมนั้นลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อย้อนกลับไปช่วงฤดูฝนปี 2562 นักเดินทางชาวไทยเดินทางโดยเฉลี่ย 1,774 กิโลเมตรต่อการจองที่พักหนึ่งครั้ง โดยในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมานี้ระยะทางโดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 966 กิโลเมตรต่อหนึ่งการจองเทียบเท่ากับระยะทางจากกรุงเทพฯไปสงขลา ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 96 ของจำนวนระยะทางที่คนไทยเดินทางระหว่างวันที่ 1 มิถุนายนถึง 31 สิงหาคม 2563 เป็นการเดินทางภายในประเทศ ในขณะที่ปีที่แล้วมีการเดินทางในประเทศ ร้อยละ 32 เท่านั้น โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมตลอดกาลของคนไทยอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หัวหิน และพัทยา ติดอันดับต้นๆ ของจุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมจอง โดยคนไทยส่วนใหญ่ไปเที่ยวเพื่อกลับมาสานสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวอีกครั้ง ด้วยการร่วมรับประทานอาหาร ช้อปปิ้ง หรือเที่ยวชมเมืองยามค่ำคืน เมืองเชียงใหม่มีชื่อเสียงในฐานะเมืองที่ไม่เคยหลับใหลและเต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ คอยชักชวนให้นักเดินทางได้กลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้งโดยไม่รู้เบื่อ เพราะนอกจากจะมีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ยังเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนสามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน หลายที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกหนึ่งจุดหมายยอดนิยมในช่วงฤดูฝนปี 2563 คือเชียงใหม่ เมืองแห่งวัฒนธรรมและธรรมชาติตระการตา ที่เปิดโอกาสให้ผู้เดินทางสามารถสัมผัสกับเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนาที่ไม่เหมือนใคร ในขณะที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวขวัญใจคนเมืองขนานแท้ นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ยังเลือกไปเที่ยวทะเล แม้ว่าจะอยู่ระหว่างฤดูฝน โดยจุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมจองยังคงเป็นหัวหินและพัทยา การเลือกที่พักของคนไทยมีแนวโน้มที่จะเลือกเข้าพักในวิลล่ส รองลงมาคือรีสอร์ต และการพักด้วยเต็นท์ หรือรถบ้านความนิยมของที่พักสไตล์เต็นท์ที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการท่องเที่ยวไปจากรูปแบบเดิมที่เราเคยพบเจอมา โดยเมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก มีคนไทยเพียงร้อยละ 58 ที่เลือกพักในรีสอร์ต และเพียงร้อยละ 22 เลือกพักในที่พักแบบแคมป์หรือเต็นท์ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและการเลือกจุดหมายเดินทางที่เปลี่ยนไปการท่องเที่ยวยังคงเป็นความปรารถนาจะออกไปเที่ยวของนักเดินทางได้อยู่ โดยปกติแล้ว ผู้เดินทางจำนวนมากมักตั้งเป้าเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลหรืออยู่ต่างประเทศ แต่สำหรับปีนี้ หลายคนค้นพบความสุขง่ายๆ จากการออกไปเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกท่องเที่ยวในเมืองที่ไม่เคยหลับใหลอย่างกรุงเทพฯ แทนที่จะเป็นโตเกียว หรือเลือกสำรวจวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่แทนที่จะไปสิงคโปร์ ความต้องการออกไปท่องเที่ยวของคนไทยยังมีอยู่เสมอ แต่ปีนี้คนไทยเติมเต็มความสุขด้วยเที่ยวใกล้บ้านกันมากขึ้น -สำนักข่าวไทย.

ดีป้าเผย4โครงการได้รับความเห็นชอบเป็นเมืองอัจฉริยะ

กรุงเทพฯ 29 ก.ย. ดีป้าเปิดข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบแรก 7 โครงการ ผ่านมติเห็นชอบแล้ว 4 โครงการ เตรียมชงต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และการคัดกรองเบื้องต้น จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ กรุงเทพมหานคร โดยมี สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ, โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง โดยมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ , โครงการเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ จังหวัดภูเก็ต สำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินโครงการ ,โครงการโคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา โดยมี สำนักงานจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้ดำเนินโครงการ , โครงการเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน โดยมี เทศบาลเมืองน่าน เป็นผู้ดำเนินโครงการ และโครงการเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ “สำหรับผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 จากที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยแบ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ ประเภทเมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) จำนวน 3 โครงการ และประเภทเมืองใหม่ทันสมัย (New City) 1 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการโดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานผู้ดำเนินโครงการฯ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ และนำเสนอต่อที่ประชุมฯ ในครั้งถัดไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว ทั้งนี้ คณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านจะต้องดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจาก 33 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่เหลือ ซึ่งผลการพิจารณาทั้งหมดจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมรับตราสัญลักษณ์ในที่สุด-สำนักข่าวไทย.

กสทช.จับมือทรู ซีพีออลล์ ทำบริการบืนยันตัวตนดิจิทัล

กรุงเทพฯ 28 ก.ย.  กสทช. จับมือ ทรู มูฟ เอช และ ซีพี ออลล์ ต่อยอดพัฒนาระบบยืนยันตัวตน โมบายไอดี  บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำระบบ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID นี้ ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันกับบริษัท ทรู มูฟ เอชยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการทดสอบทดลองในระยะ Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถให้ประชาชนมาร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ปัจจุบัน สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมทำงานกับ ETDA และหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรฐานของการให้บริการในระยะทดสอบทดลองนี้ด้วย ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดกล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผ่าน Digital Platform และทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดพลังในการขยายขีดความสามารถสร้างสรรค์ Innovation หรือบริการ Digital ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับโครงการ Mobile ID ระยะทดสอบ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของทรู มูฟเอช โดยจะทำการทดสอบทดลองร่วมกับซีพี ออลล์ ในช่วงแรกก่อน ขยายไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้ว โดยทรู มูฟ เอช มีความยินดี ที่จะพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID จะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของซีพี ออลล์ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานกสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ อย่างต่อเนื่องในการให้บริการกับลูกค้าของ ซีพี ออลล์ โดยจะทำการทดสอบทดลองร่วมกับทรู มูฟ เอช ในช่วงแรกก่อน โดยลูกค้าที่มาใช้บริการของซีพี ออลล์ จะสามารถใช้ MobileID ในการทำธุรกรรมหรือรายการต่างๆ ในที่สาขาของซีพี ออลล์ และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป -สำนักข่าวไทย.

ซีอีโอเอไอเอสเปิดหนังสือบันทึกประสบการณ์ 30 ปีในอุตฯโทรคมนาคม

กรุงเทพฯ 28 ก.ย. เอไอเอส เปิดตัวหนังสือ “30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา”เปิดเส้นทางผู้นำเทคโนโลยี พลิกโฉมการสื่อสารไทย ตลอด 3 ทศวรรษ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า หนังสือ 30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เกิดจากความตั้งใจที่อยากสื่อสารเรื่องราวของเอไอเอส การตั้งชื่อหนังสือว่า ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มาจากตัวตนขององค์กร ที่เป็นเพียงบริษัทธรรมดาแห่งหนึ่ง แต่มีความไม่ธรรมดาแฝงอยู่ นั่นคือการที่เราเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมการสื่อสารใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกในทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ล้วนแฝงไปด้วยบทเรียนที่องค์กรสั่งสม กลายเป็นองค์ความรู้ที่จะส่งต่อให้กับคนในองค์กร และอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้องให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง “ในทุกช่วงเวลา ยังได้สร้างความเป็นคนทำงานมืออาชีพให้กับชาวเอไอเอส ปลูกฝังการมีหัวใจบริการอยู่ทุกลมหายใจ การมีพลังที่จะส่งต่อความสุข, ความสะดวกสบายจากสินค้าและบริการของเอไอเอสให้กับลูกค้าและคนไทยทุกคน ทั้งหมดนี้หล่อหลอมเกิดเป็นดีเอ็นเอแบบคนเอไอเอสมาจนถึงทุกวันนี้นี่จึงเป็นบทบันทึกพัฒนาการการเปลี่ยนผ่านทั้งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสารของเมืองไทย ตั้งแต่ยุคบุกเบิก 1G เมื่อ 30 ปีก่อน อันเป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารไร้สายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับทุกคน จวบจนปัจจุบันที่เครื่องมือสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ และก้าวมาถึงยุค 5G ตลอดจนการพัฒนาคนมืออาชีพในแบบฉบับเอไอเอส เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยผมวางแนวทางการเขียนหนังสือโดยใช้ปรัชญา 3 คำ ในทุก ๆ บท ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ผมใช้ในการทำงาน กับทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องในชีวิตการทำงานของผมอีกด้วย “ นายสมชัย กล่าว  นอกจากเนื้อหา 16 บทแล้ว ความพิเศษของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ได้ทำเป็นหนังสือเล่มที่จัดพิมพ์บนกระดาษEcoFiber 100% ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและ E-Book ในรูปแบบมัลติมีเดียที่มีครบทั้งภาพและเสียง ซึ่งในหน้าสุดท้ายของแต่ละบท ผู้อ่านสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด หรือกดรับชมภาพความประทับใจในแต่ละช่วงเวลาตลอด 30 ปี ของ เอไอเอส ในรูปแบบคลิปวิดีโอ  E-Book ยังเพิ่มเติมความเป็นหนังสือเสียง หรือ Audio Book -สำนักข่าวไทย.

จับตาบอร์ดกสทช.พิจารณาวิธีคิดค่าโทรฯ

กรุงเทพฯ 28 ก.ย. จับตา กสทช. จ่อเลิกข้อห้ามคิดค่าโทรต่างกันภายในโครงข่ายกับภายนอกโครงข่าย นายประวิทย์ กล่าวว่า ข้อกฎหมายนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ในเรื่องของการมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในโครงข่ายเดียวกันหรือต่างกัน หรือเกิดข้อจำกัดหากเป็นการใช้บริการข้ามโครงข่าย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า หรือบิดเบือนการกำหนดราคาเพื่อสร้างอำนาจผูกขาดในตลาด โดยเฉพาะการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่ให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมได้ ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ต้องการให้มีการทบทวนกติกาให้สามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านถึงผลดีผลเสีย รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด “หากจะมีการกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกัน ก็เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้ว่ากำลังจะใช้บริการโทรภายในเครือข่ายหรือนอกเครือข่าย เพราะถ้าผู้บริโภคไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ก็ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคอาจเกิดความเข้าใจผิดว่ากำลังโทรในเครือข่ายซึ่งโทรฟรีหรืออัตราค่าบริการถูก จึงโทรนาน แต่ปรากฏว่าปลายสายย้ายค่ายไปแล้ว ทำให้กลายเป็นการโทรนอกเครือข่ายที่ต้องเสียค่าบริการแพง นอกจากนี้ ถ้าจะมีการอนุญาตให้สามารถกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันได้ ก็ต้องกำกับอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ใช่ปล่อยให้กำหนดราคาแตกต่างกันได้โดยเสรี มิเช่นนั้นก็จะเกิด network effect เพราะทุกวันนี้มีการออกแพ็คเกจโทรฟรีในเครือข่าย ส่วนนอกเครือข่ายคิดราคาเต็ม ซึ่งทำให้ราคาค่าบริการแตกต่างกันหลายเท่าตัว เมื่อเป็นเช่นนี้รายเล็กก็จะแข่งขันสู้รายใหญ่ไม่ได้ และก็จะล้มหายตายจากตลาดกันหมด” นายประวิทย์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่องคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ฟ้องคดี 4 รายถอนอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความกรณีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง กทช. ที่ 19/2553 เรื่อง ห้ามเรียกเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนคำสั่ง กทช. ดังกล่าวแทน กรณีข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจากในสมัยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เคยมีคำสั่งห้ามผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดทำรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกัน สำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) โดยหากพบว่าผู้ประกอบกิจการรายใดฝ่าฝืน ให้สำนักงานกสทช. กำหนดมาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดอย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ กทช. ออกคำสั่งดังกล่าว ได้มีผู้ประกอบกิจการ 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด บริษัทดิจิตอล โฟน จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช. ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ต่อมาก็ได้ขอถอนอุทธรณ์ และทำหนังสือขอให้ กสทช. พิจารณาทบทวนคำสั่ง กทช.-สำนักข่าวไทย.

อินเด็กซ์ปรับกลยุทธ์บุกธุรกิจเมดดิเทค

กรุงเทพฯ 28 ก.ย. อินเด็กซ์ครีเอทีฟวิลเลจ ปรับธุรกิจฝ่าโควิด-19 ใช้เทคโนโลยียกบริการทางการแพทย์มาอยู่ในโรงแรม  นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ครีเอทีฟวิลเลจ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวของธุรกิจว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจเสียหาย หนึ่งในธุรกิจที่เสียหายคือ โรงพยาบาล และโรงแรมโจทย์ ที่โรงแรม และโรงพยาบาลต้องแก้จากการที่นักท่องเที่ยวหายไปคือโจทย์เดียวกันจึงเป็นที่มาของ อัญยา คือ ธุรกิจใหม่ร่วมพันธมิตร เป็นธุรกิจที่พาโรงพยาบาลมาเจอกับโรงแรม ได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี จากผู้เชี่ยวชาญ อัญยา อยู่ระหว่างอุตฯ โรงแรงและโรงพยาบาล   “ ANYA MEDITEC คือแนวคิด Bring Hospital to Hotel เป็นการผสมผสานธุรกิจ Hospital + Hotel + Technology กับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมรู้ทัน-ป้องกันรักษาที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่โรงพยาบาลยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พร้อมเปิดรับพันธมิตรทั้งโรงพยาบาลและผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม การรักษาโรคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล สามารถทำที่ไหนก็ได้ด้วย meditec อัญยา แปลว่า ไม่ใช้ยา แนวคิดคือป้องกันโรคไม่ให้เกิด ทำบนที่ทร่ไปแล้วสบายใจ เช่น นอนไม่หลับคนชอบบอกว่าเปลี่ยนที่นอน เราจึงคิดถึงโรงแรม การทำ สลิปเทส การทำเทเลเมด สามารถทำที่โรงแรม อัญยาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโรงแรมและโรงพยาบาล ไม่ได้แก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวแต่เป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อคนเมือง “ นายเกรียงไกร กล่าว  นายเกรียงไกร กล่าวว่า ANYA MEDITEC จะสร้างปรากฎการณ์ New Chapter Healthcare Industry เชื่อมโยงระหว่าง โรงพยาบาล+โรงแรม+เทคโนโลยี เข้าด้วยกัน อัญยาจะเข้าไปบริหารจัดการวางแผนธุรกิจและวางระบบให้ตั้งแต่เริ่มต้นกับโรงแรมเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวนอกจากนี้มีพันธมิตรหลักเป็นโรงพยาบาลชั้นนำและ บริษัท เรสท์เมดิคอล (ประเทศไทย) จำกัด Sleep lab และผู้แทนนำเข้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แบรนด์ Resmed  บริการทางการแพทย์อาทิ การทดสอบประสิทธิภาพในการนอน (Sleep Test) การตรวจสุขภาพ (Health Check) คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีโรงแรงเข้าร่วม 20 แห่ง และอนาคตจะขยายไปในต่างประเทศ นางสาวเพิ่มศิริ ศิริจินดาพันธ์ รองประธาน บริษัท เรสท์ เมดิคอล (ประเทศไทย) จำกัด Sleep lab อัญยา คือคนที่นำโทเทิ่ลสลิปโซลูชั่น มาให้บริการ เช่น การตรวจสอบการนอนหลับ จะเริ่มจากการคุยกันกับตั้งแต่นักจิตบำบัดว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ทำไมจึงนอนไม่หลับ การแก้ไขปัญหาคือการนอนสมาธิ ซึ่งหาคนทำได้ยาก จึงต้องใช้เทคโนโลยี โซลูชั่นที่นำเสนอ สามารถพัฒนาระบบโดยใช้เวลาสั้น เพียง 1-1.5 เดือน ให้บริการได้ทันที โดยเทคโนโลยีจะรองรับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้หบังการเข้ามาดูแลสุขภาพแล้วยังมีเทคโนโลยีที่ติดตามการดูแลสุขภาพของผู้มาใช้บริการ ขั้นตอนการดูแล ผู้ใช้บริการจะมาเจอหมอ 2 ครั้ง ทำสลิปเทส ใครมีปัญหาจะ หาแนวทางแก้ไข แล้วลองทดสอบการนอนพี้อมกับอุปกรณ์ แล้วเอาเครื่องกลับไปทดลองใช้งานที่บ้าน 7 สัน แล้วจึงเอาผลมาปรับแนวทางการรักษา แล้วแก้ไข จากนั้นสามารถติดตามผลผ่านระบยการแพทย์ทางไกล (Telemed)  “ค่าบริการเริ่มต้นในการใช้บริการขึ้นกับโรงแรม น่าจะอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ปกติโรงพยาบาลเอกชน 16,000 บาท โรงพยาบาลรัฐ 6,000-7,000 บาท แต่อาจนอนไม่หลับ การทำสลิปเทสที่โรงพยาบาล สามารถเอาครอบครัวไปเที่ยวได้ สามารถตรวจสุขภาพมากกว่าการนอนก็ได้ อัญยามีพันธมิตรด้ายเฮลเทคที่จะมีการนำอุปกรณ์ไฮเทคอย่างอื่นเข้ามาให้บริการด้วย “ นางสาวเพิ่มศิริ กล่าว  นายเกรียงไกร กล่าวสรุปว่า การปรับตัวนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและได้รับผลกระทบรุนแรง คือโรงแรม และโรพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาล ที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ฯลฯ เมื่อนโยบายรัฐอยากให้ประเทศไทยเป็นฮับของการรักษาพยายาล การให้บริการทางสุขภาพน่าจะเป็นโอกาส โดยระยะเริ่มต้นให้บริการใน 10 โรงแรมก่อน ซึ่งอนาคตจะถ้าเราเน้นไปที่นักท่องเที่ยวเรดเอ หรือ บี โรงแรม 5 ดาว นั่นคือโอกาส อัญยาเชื่อว่าบริการนี้น่าจะเป็นโอกาสมีรายได้จากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย -สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสตั้งเป้าขยายความร่วมมือสำนักข่าวต้านข่าวปลอม

กรุงเทพฯ 25 ก.ย. ดีอีเอส เล็งต่อยอดร่วมมือสำนักข่าว หนุนสกัดการแพร่ข่าวปลอม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะสร้างการรับรู้เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้เท่าทันข่าวปลอม โดยจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งขัอมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยกันป้องกันการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดมีแผนขยายการสร้างความมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่งในแผนงาน คือการขอความร่วมมือจากสำนักข่าว เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใกล้ชิดกับ “ผู้บริโภคสื่อ” และได้รับความเชื่อถือจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว สามารถเป็นช่องทางและเครือข่ายที่มีพลังในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดอบรมให้กับผู้ประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรพัฒนาระบบในการตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี่ และพัฒนาช่องทางการติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนกับศูนย์ฯ และผู้ประสานงานกับศูนย์ฯ ให้มีขั้นตอนที่สะดวกมากขึ้น เป็นต้น สำหรับผลการดำเนินงานการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมว่า จาการรับแจ้งข้อมูลข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ ตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 – 23 ก.ย. 63 มีจำนวนข้อความที่เข้ามา 17,255,640 ข้อความ โดยมีข้อความที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน จำนวน 18,479 ข้อความ ทั้งนี้ จากการคัดกรองพบว่ามีข้อความที่ต้องตรวจสอบ 6,411 เรื่อง แบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้ กลุ่มข่าวสุขภาพ 3,539 เรื่อง กลุ่มข่าวนโยบายรัฐบาล 2,499 เรื่อง กลุ่มข่าวภัยพิบัติ 125 เรื่อง และกลุ่มข่าวเศรษฐกิจการเงิน 248 เรื่อง ตามลำดับ-สำนักข่าวไทย.

บริษัทดาวเทียมสัญชาติไทยเปิดแผนพาไทยบุกอุตฯอวกาศ

กรุงเทพฯ 25 ก.ย.-มิว สเปซ เปิดแผนดันไทยสู่อุตสาหกรรมอวกาศ นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานกรรมการบริหาร บริษัทด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศบริษัทมิวสเปซ ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสาร กล่าวว่า เป้าหมายหลักของมิวสเปซ คือการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เพื่อนำประเทศไทยมุ่งสู่ธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศ อย่างเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ (Autonomous Robot) เพื่อใช้ในภารกิจทางด้านอวกาศในอนาคตอันใกล้   มิว สเปซ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสามารถสนับสนุนการค้นหาทรัพยากร ประกอบกับการนำไปพัฒนาต่อยอดด้านการสื่อสารดาวเทียมให้มีคุณภาพสูงแต่มีค่าใช้จ่ายต่ำ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกรูปแบบและสอดคล้องกับความต้องการในตลาดอย่างลงตัว รวมทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างโอกาส ขยายตลาดแรงงานทักษะสูง ตลอดจนถึงบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถ ในการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของไทยสู่นานาชาติ สำหรับไฮไลท์ในการเปิดตัวนี้ คือ แผนการสร้าง Spaceship หรือพาหนะทางอวกาศขนาดเล็กลำแรกของไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้าง Data Center นอกชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งสามารถลดปัญหาสำคัญของการสร้างศูนย์เก็บข้อมูล เช่น การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการปฏิบัติการของระบบภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่ำ ซึ่งใช้ปริมาณมากถึงร้อยละ 40 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด การนำ Data Center ออกไปยังสภาวะอวกาศที่เย็นกว่า -270 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถกำจัดเรื่องของอุณหภูมิไปได้อย่างมาก รวมถึงการใช้พลังงานบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ไม่พึ่งพาพลังงานจากโลก โดย Spaceship จะโคจรค้างฟ้า และรับพลังงานจากแสงอาทิตย์บริเวณใต้ท้องตลอดเวลา จึงสามารถปฏิบัติงานด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพลังงานจากโลก และมีความปลอดภัย โดยทำให้ spaceship ที่ลอยค้างฟ้าและเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย constellation มีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นบนโลก เช่น ไฟไหม้ หรือ น้ำท่วม ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมต่อกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งโลก จะทำให้การเชื่อมต่อมีความลื่นไหลเข้าถึงได้ทุกมุมโลก ในเดือนสิงหาคมที่ผ่าน มิว สเปซ ได้มีการทดสอบวัสดุที่เหมาะสมต่อการนำมาสร้าง โดยทดสอบความแข็งแรงของวัสดุ จากการจำลองกระสุนปืนชนิดพิเศษ ที่มีความเร็วเทียบเท่ากับความเร็วของเศษขยะอวกาศ อยู่ที่ความเร็วมากกว่า 1,100 m/s ทั้งนี้ ผลทดสอบพบว่า ผ่านมาตรฐานการป้องกันกระสุนในระดับ 3  และมิวสเปซ ได้เตรียมสร้างโรงงานขนาดกลางภายในปลายปีนี้ เพื่อให้สามารถเริ่มผลิต Spaceship อย่างเต็มรูปแบบในปี 2021  ประธานมิวสเปซ กล่าวอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีของคนไทยที่ได้มาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรภายในปี 2024  เพื่อให้มิวสเปซเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมต่างชาติแห่งแรกของไทย เมื่อมีการเปิดเสรีดาวเทียม ดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO Satellite จะเป็นประโยชน์และมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบการสื่อสารในอนาคต อีกทั้ง ยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติ รวมไปถึงการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ 5G, Cloud storage, Online Transaction และความปลอดภัยในการทำธุรกิจต่าง ๆ ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มั่นใจว่า มิว สเปซ คือทางเลือกใหม่ของคนไทยที่จะสามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการในทิศทางใหม่ๆ ได้อย่างตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างทั่วถึงพร้อมช่วยทำให้การรับส่งสัญญาณมีประสิทธิภาพและเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย

1 16 17 18 19 20 2,829
...