รัฐสภา 22 ก.ค.-รัฐมนตรีคลัง แจงสภา รัฐออกหลายมาตรการช่วยเหลือ ยอดหนี้เสียลดลง หลังโควิด-19 คลี่คลาย งัดหลายมาตรการดูแลภาระหนี้รายย่อย กยศ. เดินหน้าสางหนี้ครู 1.4 ล้านล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงรัฐสภาว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ มียอดสินเชื่อคงค้าง 15 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้ของกลุ่มรายย่อยร้อยละ 34.5 หรือประมาณ 5.26 ล้านล้านบาท ประมาณร้อยละ 32 ของจีดีพี แบ่งเป็นหนี้ภาคอสังหาร้อยละ 17 ที่เหลือเป็นหนี้เช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต สำหรับคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้รายย่อยโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ซึ่งกำลังให้ความช่วยเหลืออยู่ เห็นได้จากยอดหนี้ NPL ของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรก ปี 65 ร้อยละ 2.93 ลดลดงจากไตรมาส 1 ของปี 63 ซี่งเป็นช่วงระบาดหนักโควิด-19 มียอดหนี้ NPL ร้อยละ 3.04
สำหรับลูกหนี้รายย่อยมียอดหนี้ NPL ร้อยละ 2.78 ในไตรมาสแรกปี 65 ลดลงจากไตรมาส 1 ของปี 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.23 สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เหมือนกับแบงก์รัฐ ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย 4 ด้าน ประกอบด้วย การรักษาสภาพคล่องการเติมทุนใหม่ ให้กับครัวเรือนลูกหนี้ การขยายเวลาและกำหนดชำระหนี้ขั้นต่ำ ของบัตรเครดิตจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 พบว่า ลูกหนี้บัตรเครดิต 1 ใน 3 จำนวน 3.6 ล้านบัญชีได้ประโยชน์ เมื่อลดยอดการผ่อนชำระแล้ว ยังขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจาก 1.5 เป็น 2 เท่าของรายได้ สำหรับลูกหนี้รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3 หมื่นบาท เพื่อเติมสภาพคล่องใช้จ่าย ตามขีดความสามารถในการชำระหนี้
รัฐบาลยังเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อพักชำระหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้บริหารจัดการชำระหนี้ สำหรับหนี้รายย่อยไม่มีหลักประกัน ธปท. ร่วมกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จัดโครงการคลินิกแก้หนี้ ช่วยลูกหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เพื่อวางแผนแก้ปัญหาหนี้ นับว่า มีลูกหนี้เข้าโครงการ 83,909 บัญชี ส่วนทางด่วนแก้หนี้ ได้ติดต่อผ่านแบงก์ชาติ ประสานไปยังสถาบันการเงิน เพื่อลดความเดือนร้อนลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 63-1 เม.ย. 65 มีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ 2.69 แสนราย และการช่วยเหลือกลุ่มไม่ให้โดนซ้ำเติม ด้วยการปรับฐานค่าปรับผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ คลัง ธปท. ยังได้ตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าไกล่เกลี่ยหนี้ กยศ.ในต่างจังหวัด กยศ.ยังเดินหน้า แก้ปัญหาหนี้ข้าราชการครู ตำรวจ จากฐานข้อมูล ครูร้อยละ 80 มีภาระหนี้ยอดสะสม 1.4 ล้านล้านบาท จากมาตรการกระทรวงศึกษาธิการฯ ช่วยเหลือผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ ในการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 ประมาณ 70 แห่ง และปรับหลักเกณฑ์การตัดจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการครูเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 นับว่า ช่วยลดภาระให้ข้าราชการครูหลายพันล้านบาท
ส่วนหนี้ข้าราชการตำรวจ ได้ตรวจเช็กข้อมูลเครดิต เพื่อประกอบการพิจารณาเงินกู้ให้กับสหกรณ์ และการปรับลด ทบทวนเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการในการคุ้มครองสิทธิ์ให้กับลูกหนี้ ธปท. ยังได้ ได้ทบทวนดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลจากร้อยละ 28 เหลือร้อยละ 25 เพื่อลดภาระลูกหนี้ ส่วนพิโค่ไฟแนนซ์ปรับลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 36 เหลือร้อยละ 33 นับว่า เป็นหลายมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้.-สำนักข่าวไทย