กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยอมรับมติ สนช. หลังเห็นชอบ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม วาระ 2 และ 3 ยืนยันพร้อมดำเนินการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 2 และ 3 ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่… (พศ….) และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับที่… (พ.ศ….) ว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพร้อมดำเนินการเมื่อมีการประกาศเป็นกฎหมาย เพราะจำเป็นต้องเร่งความมั่นคงด้านพลังงาน สำหรับข้อสังเกตที่ให้มีการศึกษาการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC คงต้องรอผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษา ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายใน 60 วัน และสรุปผลภายใน 1 ปี ตามที่ได้มีมติที่ประชุม
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงขั้นตอนที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องดำเนินการต่อไปว่า ปัจจุบันกรมฯ ต้องเตรียมยกร่างกฎกระทรวงที่จำเป็นอีก 5 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมอีก 1 ฉบับ รองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม “หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม…” กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา53/1) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขและระยะเวลาการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (มาตรา53/6) กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา53/2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา53/9) และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา53/10)
สำหรับกรณีการดำเนินการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ระหว่างการจัดทำกฎหมายเตรียมกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประมูล (TOR) คาดว่าจะเสร็จเดือนเมษายน 2560 ทั้งนี้ ในการเปิดประมูลขึ้นอยู่กับกฎหมายลำดับรองที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการประมูลต้องเสร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีการประกาศ TOR และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำเนินงาน
นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ซึ่งปี 2559 ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับสูงมาก จากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และมีการทำงานที่เน้นสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติสูงสุด ซึ่งจะเห็นจากการจัดหาปิโตรเลียมเพื่อรองรับความต้องการใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดเก็บรายได้ทั้งแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และอื่น ๆ มูลค่าปีละเกือบ 200,000 ล้านบาท โดยการกำกับดูแลเป็นไปทั้งรูปแบบที่ต้องส่งบุคลากรลงไปตรวจสอบในสถานประกอบกิจการและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล ซึ่งการดำเนินการรูปแบบดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และตลอดหลายปีที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมุ่งเน้นประสิทธิภาพการทำงานด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการฝึกอบรม การศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องปิโตรเลียมมาโดยตลอด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแม้บุคลากรน้อยแต่เป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถกำกับดูแลให้สามารถจัดหารายได้ให้แก่รัฐได้ .-สำนักข่าวไทย