กรุงเทพฯ 2 มิ.ย.-กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งแผนจัดหาก๊าซฯ ในประเทศและแหล่งเจดีเอ ทดแทนก๊าซฯแหล่งเอราวัณที่ผลิตต่ำกว่าแผน 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมแล้วก๊าซฯ จะหายไปราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เผยราคาน้ำมันแพงทำให้มีผู้สนใจดูข้อมูลการเปิดสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 24 แล้ว 4 ราย คาดรายได้ปิโตรเลียมปีนี้พุ่งกว่าปีที่แล้วเกือบร้อยละ 70
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลังการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และ แปลง G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา นั้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับอัตราการผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยเดือนพฤษภาคมของแปลง G1/61 อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ต่ำกว่าแผนเงินเดิมที่ จะต้องผลิตได้ราว 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) และแปลง G2/61 อยู่ที่ประมาณ 870 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยกรมฯผลักดันให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในฐานะผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียม (Ramp up) ของแปลง G1/61 ให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ โดยขณะนี้ปตท.ได้ขุดหลุมสำรวจ 70-100 หลุม และคาดว่ากำลังผลิตจะเพิ่มได้เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปลายปีนี้
ทั้งนี้เพื่อทดแทน ปริมาณก๊าซแหล่งเอราวัณที่ต่ำกว่าแผนงาน 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กรมฯ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมแล้วคาดว่าจะทดแทนได้ราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแผนมีดังนี้
1. ร่วมกับ บมจ. ปตท. จัดหาก๊าซฯส่วนเพิ่ม จากแหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 รวมถึงแปลง B-17 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มนี้ได้ทยอยเข้าระบบแล้ว
2. กำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานทุกรายเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้เต็มความสามารถตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และประสานให้เลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
“จากการเร่งทุกแหล่งให้ร่วมผลิตเพิ่ม เพื่อไทยจะได้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่มีราคาสูง โดยขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรอยู่ที่ 23 เหรียญสหรัญ/ล้านบีทียู ส่วนแหล่งอ่าวไทยเป็นราคาสะท้อนราคาน้ำมันย้อนหลัง ราคาจึงอยู่ที่ 5 เหรียญ/ล้านบียู และคาดว่าปีหน้าราคาจะอยู่ที่ 5-6 เหรียญ โดยจากที่เร่งทุกแหล่งคาดปีนี้ก๊าซฯในประเทศจะผลิตได้รวม 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปีหน้าหากเอราวัณเพิ่มกำลังผลิตได้เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซในประเทศก็จะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” นายสราวุธกล่าว
ในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว กรมฯ ได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริเวณทะเลอ่าวไทยจำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย ได้แก่ G1/65 พื้นที่ 8,487.20 ตารางกิโลเมตร, G2/65พื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร และ G3/65 พื้นที่ 11,646.67 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในขณะนี้ มีผู้สนใจแล้ว 4 ราย ทั้งในและต่างประเทศ โดยต้องยื่นคำขอสิทธิภายในเดือนกันยายนนี้ และประกาศผลผู้ชนะในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจากการที่ราคาปิโตรเลียมราคาสูงและแหล่งผลิตมีศักยภาพจึงคาดว่า จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท จากกิจกรรมการสำรวจปิโตรเลียม และหากมีการค้นพบปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ก็จะเกิดเม็ดเงินลงทุนในการพัฒนาอีกนับหมื่นล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2565 (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) กรมฯจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม SRB และรายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และค่าตอบแทนในการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งสิ้น 27,635.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.92 ส่วนการจัดเก็บรายได้ระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2565 คาดว่าจะรวมทั้งสิ้น 25,653 ล้านบาท ในขณะที่งบปี 2563 จัดเก็บได้เพียง 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นปีนี้จึงเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 เป็นผลมาจากราคาปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนสำรวจและผลิตเพิ่มขึ้น และการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย